การเปลี่ยนแปลงคุณภาพชีวิตของผู้สูงอายุไทยในช่วงการระบาดของโควิด-19
สุภาพ อารีเอื้อ, ยุวดี สารบูรณ์*, อินทิรา รูปสว่าง, ทีปทัศน์ ชินตาปัญญากุล, ศิริรัตน์ อินทรเกษม
มหาวิทยาลัยมหิดล วิทยาเขตอำนาจเจริญ
บทคัดย่อ
สถานการณ์การแพร่ระบาดของ COVID-19 ในปัจจุบันที่ประชากรทั่วโลกต้องเผชิญ การประกาศมาตรการที่เกี่ยวข้องกับการดำเนินชีวิตในวิถีชีวิตใหม่ อาจส่งผลกระทบต่อคุณภาพชีวิตของผู้สูงอายุได้ การศึกษาครั้งนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อติดตามการเปลี่ยนแปลง และเปรียบเทียบคุณภาพชีวิตของผู้สูงอายุจำแนกตามภูมิภาคของประเทศไทยในช่วงการระบาดของ COVID-19 กลุ่มตัวอย่างเป็นผู้สูงอายุจากจังหวัดที่เป็นตัวแทน 5 ภูมิภาคๆ ละ 1 จังหวัด จังหวัดละ 400 ราย รวมผู้สูงอายุเข้าร่วมการศึกษา 2,000 ราย เก็บข้อมูลโดยใช้แบบสอบถามข้อมูลส่วนบุคคลและข้อมูลสุขภาพ และประเมินคุณภาพชีวิต EQ-5D-5L ฉบับภาษาไทย โดยมีรายงานค่าความเชื่อมั่นสัมประสิทธิ์สหสัมพันธ์ เท่ากับ 0.89 วิเคราะห์ข้อมูลส่วนบุคคล ข้อมูลสุขภาพ และการเปลี่ยนแปลงของคุณภาพชีวิตของผู้สูงอายุจำแนกตามช่วงการระบาดของ COVID-19 ด้วยสถิติพรรณนา และการวิเคราะห์ความแปรปรวนทางเดียว ผลการศึกษาพบว่า ผู้สูงอายุส่วนใหญ่มีคะแนนคุณภาพชีวิตและความพึงพอใจต่อสุขภาพในช่วงการระบาดของ COVID-19 ในรอบแรกสูงกว่าช่วงเวลาอื่นๆ ภายหลังรอบแรก ทั้งนี้ อาจเนื่องมาจากเป็นช่วงที่เพิ่งจะเริ่มมีการระบาด และแม้จะมีผู้ติดเชื้อจำนวนมากแต่ก็ยังไม่มีผลกระทบไปยังภูมิภาคอื่นอย่างชัดเจน ทำให้ผู้สูงอายุมีการรับรู้เกี่ยวกับคุณภาพชีวิตที่ดีและมีความพึงพอใจต่อสุขภาพมากกว่าการระบาดในช่วงต่อๆ มาซึ่งมีการล็อกดาวน์ส่งผลให้การเคลื่อนไหวของผู้สูงอายุลดลง ในการเปรียบเทียบระหว่างจังหวัดพบว่า บางจังหวัด เช่น สมุทรปราการ มีค่าเฉลี่ยคุณภาพชีวิตต่ำกว่าจังหวัดอื่น เช่น แพร่ อาจเนื่องมาจากจังหวัดสมุทรปราการถูกประกาศให้เป็นพื้นที่ควบคุมสูงสุด ที่มีมาตรการในการควบคุมและป้องกันการแพร่กระจายเชื้ออย่างเข้มงวด ในขณะที่แพร่ถูกกำหนดให้เป็นเพียงพื้นที่เฝ้าระวังสูงเท่านั้นจึงมีมาตรการผ่อนปรนมากกว่า นั่นคือความเข้มข้นของมาตรการส่งผลให้กิจกรรมของผู้สูงอายุลดลงและส่งผลต่อคุณภาพชีวิตในที่สุด ผลการศึกษาคุณภาพชีวิตของผู้สูงอายุในครั้งนี้ พบการเปลี่ยนแปลงคุณภาพชีวิตในแต่ละช่วงการระบาดของ COVID-19 และแตกต่างกันตามแต่ละภูมิภาค ซึ่งเป็นข้อมูลพื้นฐานสำคัญสำหรับทีมสุขภาพและผู้กำกับนโยบายด้านสุขภาพของประชาชนในประเทศจะได้ตระหนักถึงผลกระทบต่อคุณภาพชีวิต และนำไปใช้ประโยชน์ในการวางแผนการให้บริการช่วยเหลือผู้สูงอายุที่เผชิญกับโรคระบาดนี้ต่อไป
 
ที่มา
วารสารวิจัยระบบสาธารณสุข ปี 2565, October-December ปีที่: 16 ฉบับที่ 4 หน้า 421-436
คำสำคัญ
Quality of life, คุณภาพชีวิต, ผู้สูงอายุ, คุณภาพชี่วิต, older adults, COVID-19 pandemic, การระบาดของโรค COVID-19