คุณภาพชีวิตผู้ป่วยโรคไตวายเรื้อรังระยะสุดท้ายที่ใช้การรักษาแบบประคับประคอง อำเภอหนองวัวซอ จังหวัดอุดรธานี
เย็นอุรา สัตยาวัน
กลุ่มงานการแพทย์ โรงพยาบาลหนองวัวซอ
บทคัดย่อ
โรคไตวายเรื้อรัง จัดอยู่ในกลุ่มโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง และเป็นปัญหาสำคัญทางสาธารณสุขของโลก เนื่องจากผู้ป่วยกลุ่มนี้มีคุณภาพชีวิตที่ต่ำ อัตราการเสียชีวิตสูงเมื่อเทียบกับโรคเรื้อรังอื่นๆ การวิจัยนี้เป็นการวิจัยเชิงพรรณนา มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาคุณภาพชีวิต และการรับรู้คุณภาพชีวิตของผู้ป่วยโรคไตวายเรื้อรังระยะสุดท้าย ที่รักษาแบบประคับประคอง เก็บข้อมูลจากผู้ป่วยที่มารับบริการคลินิกโรคไตเรื้อรัง จำนวน 34 ราย เครื่องมือที่ใช้ในการวิจัย ประกอบด้วย 1) แบบสอบถาม KDQOL-SFTM เวอร์ชัน 1.3 ฉบับภาษาไทย เป็นคำถามเกี่ยวข้องคุณภาพชีวิตผู้ป่วยโรคไตวายเรื้อรัง 19 ด้าน และ 2) แบบสัมภาษณ์กึ่งโครงสร้าง วิเคราะห์ข้อมูลเชิงปริมาณ หาค่าความถี่ ร้อยละ ค่าเฉลี่ย และส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐาน ข้อมูลเชิงคุณภาพ ใช้การวิเคราะห์เชิงเนื้อหา
ผลการวิจัยพบว่า (1) ด้านข้อมูลทั่วไป ส่วนมากเป็นเพศชาย ร้อยละ 64.71 มีอายุเฉลี่ย 74 ปี (S.D. = 7.08, Range 62 - 86) ส่วนใหญ่มีสถานภาพสมรสแต่งงาน ร้อยละ 82.35 และไม่สามารถช่วยเหลือตนเองได้ หรือช่วยเหลือตัวเองได้น้อย ต้องอาศัยผู้ดูแล คิดเป็นร้อยละ 58.22 ด้านโรคร่วมที่พบมากที่สุดคือ โรคความดันโลหิตสูง โรคเบาหวาน และไขมันในเลือดสูง ร้อยละ 41.78, 29.41 และ 14.71 ตามลำดับ มีระยะเวลาในการรักษาแบบประคับประคอง เฉลี่ย 17.8 เดือน (S.D.=18.54, Range 3 - 72) (2) ด้านคุณภาพชีวิตของผู้ป่วยโรคไตวายเรื้อรังระยะสุดท้าย ที่รักษาแบบประคับประคอง อำเภอหนองวัวซอ จังหวัดอุดรธานี มีค่าเฉลี่ยคะแนนคุณภาพชีวิตโดยรวมในระดับปานกลาง (x̅=51.76, S.D.=14.45) เมื่อพิจารณาเป็นรายด้าน พบว่าผู้ป่วยมีค่าเฉลี่ยคะแนนคุณภาพชีวิตด้านการสนับสนุนจากสังคมมากที่สุดในระดับดี (x̅=85.29, S.D.=17.13) รองลงมาคือด้านความพึงพอใจที่ได้รับจากเจ้าหน้าที่ (x̅=76.47, S.D.=15.71) และด้านความพึงพอใจต่อการรักษา (x̅=76.47, S.D.=15.93) ส่วนด้านที่ต่ำที่สุดคือ ด้านกิจกรรมทางเพศ (x̅=19.12, S.D.=16.35) และด้านความคิดเห็นด้านสุขภาพทั่วไป (x̅=20.59, S.D.=20.42) (3) การรับรู้คุณภาพชีวิตของผู้ป่วยโรคไตวายเรื้อรังระยะสุดท้าย ที่รักษาแบบประคบประคอง พบว่า คุณภาพชีวิตประกอบด้วย 3 ด้าน คือ 1) คุณภาพชีวิตด้านร่างกาย 2) คุณภาพชีวิตด้านจิตใจ และ 3) คุณภาพชีวิตด้านสังคมและสิ่งแวดล้อม
การทำวิจัยครั้งต่อไป ควรมีการพัฒนาโปรแกรมหรือรูปแบบการส่งเสริมคุณภาพชีวิตผู้ป่วยไตวายเรื้อรังระยะสุดท้าย ที่ใช้การรักษาแบบประคับประคอง โดยอาศัยการมีส่วนร่วมของผู้ดูแล ครอบครัว และชุมชน
 
ที่มา
วารสารการแพทย์โรงพยาบาลอุดรธานี ปี 2565, September-December ปีที่: 30 ฉบับที่ 3 หน้า 435-445
คำสำคัญ
Quality of life, คุณภาพชีวิต, คุณภาพชี่วิต, palliative care, end stage renal disease, โรคไตวายเรื้อรังระยะสุดทMาย, การรักษาแบบประคับประคอง