การศึกษาเชิงทดลองแบบสุ่มเปรียบเทียบระยะเวลาการหลุดของสายสะดือ ระหว่างเช็ดสะดือด้วยแอลกอฮอล์ คลอเฮกซิดีนและแอลกอฮอล์ และคลอเฮกซิดีน
ณัฏฐากร วงศ์สุรินทร์
กลุ่มงานกุมารเวชกรรม โรงพยาบาลลำพูน E-mail: [email protected]
บทคัดย่อ
ภูมิหลัง: การเช็ดทำความสะอาดสายสะดือทารกแรกเกิดด้วยคลอเฮกซิดีนอาจเพิ่มระยะเวลาการหลุดของสายสะดือเมื่อเทียบกับการเช็ดทำความสะอาดสายสะดือด้วยสารป้องกันการติดเชื้อชนิดอื่น 
วัตถุประสงค์: เพื่อเปรียบเทียบระยะเวลาการหลุดของสายสะดือทารก ระหว่างการเช็ดสะดือด้วยแอลกอฮอล์ คลอเฮกซิดีนและแอลกอฮอล์ และคลอเฮกซิดีน หาอัตราการเกิดภาวะสะดืออักเสบในทารกแรกเกิด การพบเชื้อแบคทีเรียและชนิดของแบคทีเรียที่บริเวณสะดือ
วิธีทำการวิจัย: การศึกษาชนิดสุ่ม 3 กลุ่ม แบบเปิด ในทารกครบกำหนดที่คลอดในโรงพยาบาลลำพูนและเข้าเกณฑ์การคัดเลือก ระหว่างพฤศจิกายน 2564 ถึง กุมภาพันธ์ 2565 สุ่มคัดเลือก กลุ่ม 1 เช็ดด้วยแอลกอฮอล์เพียงอย่างเดียว กลุ่ม 2 เช็ดด้วยคลอเฮกซิดีน 7 วันแล้วเช็ดต่อด้วยแอลกอฮอล์จนกว่าสะดือจะหลุด กลุ่ม 3 เช็ดด้วยคลอเฮกซิดีนเพียงอย่างเดียว ติดตามผลที่ 48-72 ชั่วโมงที่แผนกผู้ป่วยนอกกุมารเวชกรรมเพื่อทำการเพาะเชื้อจากสายสะดือ และติดตามผลทางโทรศัพท์ที่ 7, 14, 21 และ 28 วัน หรือจนกว่าสายสะดือจะหลุดก่อน
ผลการศึกษา: ทารกกลุ่ม1, 2 และ 3 จำนวน 25, 25 และ 26 ราย ตามลำดับ มีลักษณะพื้นฐานคล้ายคลึงกัน ค่าเฉลี่ยระยะเวลาการหลุดของสายสะดือ 11.72 ± 2.71, 13.72 ± 5.26  และ 14.23 ± 4.22 วัน ตามลำดับ ทารกกลุ่มที่ 3 มีค่าเฉลี่ยระยะเวลาการหลุดของสายสะดือนานกว่าทารกกลุ่มที่ 1 อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ (p-value 0.011) ไม่พบความแตกต่างของค่าเฉลี่ยระยะเวลาการหลุดของสายสะดือของทารกกลุ่มที่ 2 เมื่อเทียบกับทารกในกลุ่มที่ 1 (p-value 0.087) ผลการเพาะเชื้อที่สะดือ พบเชื้อแบคทีเรียร้อยละ 56 โดยส่วนใหญ่พบเป็นเชื้อแกรมลบ (ร้อยละ 95) ทารกกลุ่ม 3 มีอัตราการพบเชื้อแบคทีเรียน้อยที่สุด ไม่พบภาวะสะดืออักเสบหรือเหตุการณ์ไม่พึงประสงค์ในทุกกลุ่ม
สรุป:  ทารกที่เช็ดสะดือด้วยคลอเฮกซิดีนเพียงอย่างเดียวมีระยะเวลาการหลุดของสายสะดือโดยเฉลี่ยนานกว่าทารกที่เช็ดสะดือด้วยแอลกฮอล์ ดังนั้นการเลือกใช้ชนิดของสารป้องกันการติดเชื้อของแต่ละโรงพยาบาล ขึ้นอยู่กับบริบทและความพร้อมในการเตรียมสารป้องกันการติดเชื้อของโรงพยาบาลนั้นๆ
 
 
ที่มา
Journal of Nakornping Hospital ปี 2566, January-June ปีที่: 14 ฉบับที่ 1 หน้า 68-82
คำสำคัญ
Alcohol, Time to cord separation, แอลกอฮอล์, Chlorhexidine, ระยะเวลาหลุดของสายสะดือ, คลอเฮกซิดีน