ผลของการให้พาราเซตามอลในรูปแบบฉีดเข้าหลอดเลือดดำเทียบกับยาหลอกต่อปริมาณการให้ยามอร์ฟีนในผู้ป่วยที่มารับการผ่าตัดไส้ติ่งอักเสบ
ศมณกร อนิวรรตกูล*, กฤติน กิตติกรชัยชาญ, อาภากร อัสวะวิสิทธิ์ชัยภาควิชาวิสัญญีวิทยา คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยบูรพา
บทคัดย่อ
ที่มาของปัญหา: การจัดการความปวดแบบผสมผสาน (multimodal) ในผู้ป่วยที่เข้ารับการผ่าตัดไส้ติ่งอักเสบ ช่วยลดผลข้างเคียงของยาแก้ปวดแต่ละชนิดลงได้ และการจัดการความปวดที่ดีจะช่วยให้ผู้ป่วยฟื้นตัวได้เร็วขึ้น ในผู้ป่วยที่มีการงดน้ำงดอาหาร สามารถบริหารยาแก้ปวดได้จำกัด พาราเซตามอลในรูปแบบฉีดเข้าทางหลอดเลือดดำเป็นหนึ่งในยาที่สามารถใช้ได้ในผู้ป่วยกลุ่มนี้
วัตถุประสงค์: เพื่อเปรียบเทียบปริมาณการใช้ยามอร์ฟีนสะสมระหว่างกลุ่มที่ได้รับพาราเซตามอลในรูปแบบฉีดเข้าหลอดเลือดดำ กับกลุ่มควบคุม ในผู้ป่วยที่ได้รับการผ่าตัดไส้ติ่ง
วิธีการศึกษา: เป็นการศึกษาเชิงทดลองแบบสุ่มและมีตัวแปรควบคุมแบบปกปิดสองด้าน ในผู้ป่วยที่มารับการผ่าตัดไส้ติ่งอักเสบ ในโรงพยาบาลมหาวิทยาลัยบูรพา 88 คน โดยแบ่งเป็น 2 กลุ่ม เท่ากัน ทั้งสองกลุ่มจะได้รับการระงับความรู้สึกเฉพาะส่วนทางช่องน้ำไขสันหลัง หลังจากผ่าตัดเสร็จกลุ่ม P (paracetamol group) จะได้รับพาราเซตามอลทางหลอดเลือดดำ ทุก 6 ชั่วโมง จำนวน 4 ครั้ง และกลุ่ม C (control group) จะได้รับยาหลอก ระดับคะแนนความเจ็บปวด ปริมาณการใช้มอร์ฟีน และผลข้างเคียงของมอร์ฟีน และพาราเซตามอล ถูกบันทึกที่ 0, 4, 8, 12, 24 และ 48 ชั่วโมง หลังผ่าตัด
ผลการศึกษา: ปริมาณการใช้มอร์ฟีนสะสมในกลุ่ม P น้อยกว่ากลุ่ม C อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ ในชั่วโมงที่ 4, 8, 12, 24 และ 48 หลังผ่าตัด (p<0.001) และคะแนนความเจ็บปวด (NRS) กลุ่ม P น้อยกว่ากลุ่ม C อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ 8, 12 และ 24 ชั่วโมง หลังผ่าตัด (p=0.02, <0.001, <0.001 ตามลำดับ)
สรุป: การใช้ยาพาราเซตามอลในรูปแบบฉีดเข้าทางหลอดเลือดดำ ช่วยลดปริมาณการใช้ยามอร์ฟีนเพื่อแก้ปวด และลดคะแนนความเจ็บปวดในผู้ป่วยหลังผ่าตัดไส้ติ่งได้อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ
ที่มา
วารสารศูนย์การศึกษาแพทยศาสตร์คลินิก โรงพยาบาลพระปกเกล้า ปี 2565, October-December
ปีที่: 39 ฉบับที่ 4 หน้า 448-455
คำสำคัญ
post-operative pain, การระงับปวดหลังผ่าตัด, การผ่าตัดไส้ติ่งอักเสบ, intravenous paracetamol, พาราเซตามอลรูปแบบฉีดเข้าหลอดเลือดดำ, morphine dosage, appendectomy surgery, ปริมาณการใช้ยามอร์ฟีน