ผลการตรวจคัดกรองภาวะพร่องเอ็นไซม์ Glucose-6-Phosphate Dehydrogenase ต่อค่าใช้จ่ายในการดูแลรักษาภาวะบิลลิรูบินสูงในทารกแรกเกิด การทดลองแบบสุ่มและมีกลุ่มควบคุม.
ศุภมาศ ศุภบรรพต*, เพ็ญวดี ภาคพิบูลย์, ธนีพร อินทรา, ธาวิน รัตนะพิสิฐ
สาขาวิชากุมารเวชศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยบูรพา
บทคัดย่อ
ที่มาของปัญหา: ภาวะพร่องเอนไซม์ Glucose-6-phosphate dehydrogenase (G6PD deficiency) เป็นหนึ่งในความเสี่ยงที่ใช้ในการพิจารณาให้การรักษาโดยการส่องไฟโดยใช้เกณฑ์ที่ต่ำลง แต่การส่งตรวจ G6PD ยังไม่สามารถทำได้ในโรงพยาบาลทั่วไป ในทางปฏิบัติทารกจึงได้รับการอนุมานว่ามีภาวะ G6PD deficiency ก่อน จึงทำให้เกิดการส่องไฟโดยไม่จำเป็น การส่งตรวจคัดกรอง G6PD ตั้งแต่แรกเกิดอาจลดการส่องไฟโดยไม่จำเป็นแล้วทำให้ค่าใช้จ่ายลดลงได้
วัตถุประสงค์: ศึกษาผลของการตรวจคัดกรองภาวะ G6PD deficiency ต่อค่าใช้จ่ายในการดูแลรักษาภาวะบิลลิรูบินสูงในทารกแรกเกิด
วิธีการศึกษา: การศึกษานี้เป็นการทดลองแบบสุ่มและมีกลุ่มควบคุม ทารกแรกเกิดอายุครรภ์ตั้งแต่ 35 สัปดาห์ขึ้นไป ได้รับการสุ่มแบ่งเป็นกลุ่มคัดกรองที่ได้รับการตรวจคัดกรองภาวะ G6PD deficiency จาก cord blood ตั้งแต่แรกเกิดและกลุ่มควบคุมที่อนุมานว่ามีภาวะ G6PD deficiency เมื่อประเมินความเสี่ยงในการส่องไฟรักษาและตรวจหาภาวะ G6PD deficiency เมื่อเริ่มต้นการรักษาภาวะบิลลิรูบินสูงด้วยการส่องไฟ เปรียบเทียบค่าใช้จ่ายในการดูแลรักษาภาวะบิลลิรูบินสูงของ 14 วันแรกเกิดระหว่าง 2 กลุ่ม
ผลการศึกษา: ทารกแรกเกิดได้รับการสุ่มทั้งหมด 241 คน อยู่ในกลุ่มคัดกรอง 123 คนและกลุ่มควบคุม 118 คน ถอนตัว 2 คน เมื่อเปรียบเทียบค่าใช้จ่ายในการรักษาภาวะบิลลิรูบินสูงของ 14 วันแรกเกิดระหว่าง 2 กลุ่ม พบว่าค่าใช้จ่ายรวม 14 วันแรกเกิดกลุ่มคัดกรองมากกว่ากลุ่มควบคุมอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ (425 และ 350 บาท, p=0.03) และจำนวนทารกที่ต้องได้รับการส่องไฟรักษาในกลุ่มคัดกรองน้อยกว่ากลุ่มควบคุม (ร้อยละ 15.7 และ 22.9, p=0.16) ซึ่งในทารกที่ต้องได้รับการส่องไฟรักษานี้ กลุ่มคัดกรองเป็นการส่องไฟรักษาแบบ subthreshold น้อยกว่ากลุ่มควบคุมอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ (ร้อยละ 26.3 และ 66.7, p=0.007)
สรุป: การตรวจคัดกรองภาวะ G6PD deficiency ตั้งแต่แรกเกิดมีแนวโน้มช่วยลดการส่องไฟโดยไม่จำเป็น แต่เพิ่มค่าใช้จ่ายในการดูแลรักษาภาวะบิลลิรูบินสูงในทารกแรกเกิด
 
ที่มา
วารสารศูนย์การศึกษาแพทยศาสตร์คลินิก โรงพยาบาลพระปกเกล้า ปี 2566, January-March ปีที่: 40 ฉบับที่ 1 หน้า 7-14
คำสำคัญ
screening, hyperbilirubinemia, phototherapy, G6PD deficiency, ทารกแรกเกิด, neonate, ภาวะบิลลิรูบินสูง, การส่องไฟรักษา, ภาวะพร่องเอนไซม์จีซิกพีดี, การตรวจคัดกรอง