ประสิทธิผลของอุปกรณ์สั่นสะเทือนต่อความเจ็บปวดขณะเปิดเส้นให้สารน้ำทางหลอดเลือดดำในผู้ป่วยเด็กวัยเรียน: การวิจัยทดลองแบบสุ่ม
ธันยมนย์ วงษ์ชีรี*, สโรชา เงินมาก
กลุ่มงานกุมารเวชกรรม โรงพยาบาลพระปกเกล้า
บทคัดย่อ
ที่มาของปัญหา: การเปิดเส้นให้สารน้ำทางหลอดเลือดดำเป็นหัตถการที่พบบ่อยที่สุด และทำให้ผู้ป่วยเด็กที่ได้รับการรักษาในโรงพยาบาลเกิดความเจ็บปวด อาจส่งผลกระทบทางด้านร่างกาย  จิตใจ และอารมณ์ของผู้ป่วยเด็กทั้งในระยะสั้นและระยะยาว การลดความเจ็บปวดจากการเปิดเส้นให้สารน้ำทางหลอดเลือดดำมีหลายวิธีซึ่งได้ผลแตกต่างกันออกไป การศึกษาครั้งนี้จึงเป็นวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาประสิทธิผลของอุปกรณ์ สั่นสะเทือนต่อความเจ็บปวดขณะเปิดเส้นให้สารน้ำทางหลอดเลือดกำในผู้ป่วยเด็กวัยเรียน
วัตถุประสงค์: ศึกษาประสิทธิผลของอุปกรณ์สั่นสะเทือนต่อความเจ็บปวดขณะเปิดเส้นให้สารน้ำทางหลอดเลือดดำในผู้ป่วยเด็กวัยเรียน
วิธีการศึกษา: การวิจัยแบบ Randomized control trial กลุ่มตัวอย่างเป็นเด็กวัยเรียน อายุ 6-12 ปี ที่ได้นับการเปิดเส้นให้สารน้ำทางหลอดเลือดดำในโรงพยาบาลพระปกเกล้า เลือกกลุ่มตัวอย่างตามคุณสมบัติที่กำหนด จำนวน 70 คน แบ่งกลุ่มตัวอย่างเป็น 2 กลุ่ม แบ่งเป็นกลุ่มควบคุม 35 คน และกลุ่มทดลอง 35 คน เก็บข้อมูลระหว่างเดือนสิงหาคม พ.ศ. 2565 ถึงมกราคม พ.ศ. 2566 ก่อนเปิดเส้นให้สารน้ำทางหลอดเลือดดำ ผู้วิจัยวางอุปกรณ์สั่นสะเทือนลงบนผิวหนังก่อนการแทงเข็ม วางขนานเส้นเลือดห่างจากตำแหน่งที่จะแทงเข็ม 
1 เซนติเมตร  จนสิ้นสุดกระบวนการเปิดเส้นให้สารน้ำทางหลอดเลือดดำ กลุ่มควบคุมได้รับการเปิดเส้นให้สารน้ำทางหลอดเลือดดำปกติ ผู้ช่วยวิจัยเป็นผู้ประเมินความเจ็บปวดจากการเปิดเส้นให้สารน้ำทางหลอดเลือดดำของผู้ป่วยเด็กวัยเรียน โดยใช้แบบประเมินความเจ็บปวดด้วยตนเองรูปใบหน้าที่พัฒนาโดย
Wong-Baker วิเคราะห์ข้อมูลโดยใช้ความถี่ ร้อยละ ค่าเฉลี่ย ส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐาน และการทดสอบที(Independent t-test)
ผลการศึกษา: คะแนนเฉลี่ยความเจ็บปวดหลังการเปิดเส้นให้สารน้ำทางหลอดเลือดดำกลุ่มทดลอง 1.3+1.6 คะแนน ซึ่งต่ำกว่ากลุ่มควบคุม 4.2+2.6 คะแนน อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ (p<0.001)
สรุป: วางอุปกรณ์สั่นสะเทือนลงบนผิวหนังก่อนการเปิดเส้นให้สารน้ำทางหลอดเลือดดำจนสิ้นสุดกระบวนการเปิดเส้นให้สารน้ำทางหลอดเลือดดำสามารถลดความเจ็บปวดได้ดีกว่าการเปิดเส้นให้สารน้ำทางหลอดเลือดดำตามปกติ
 
ที่มา
วารสารศูนย์การศึกษาแพทยศาสตร์คลินิก โรงพยาบาลพระปกเกล้า ปี 2566, April-June ปีที่: 40 ฉบับที่ 2 หน้า 232-240
คำสำคัญ
Pediatric, ผู้ป่วยเด็ก, pain management, การจัดการความเจ็บปวด, intravenous infusion, vibration device, การเปิดเส้นให้สารน้ำทางหลอดเลือดดำ, เครื่องมือสั่นสะเทือน