ผลของการให้ยาทรานเนซามิก เอซิด เพื่อลดการเสียเลือด 2 ชั่วโมงหลังคลอดในผู้คลอดที่มีภาวะโลหิตจางหลังการคลอดทางช่องคลอด: การทดลองแบบสุ่มที่มีกลุ่มควบคุมแบบปกปิดสองทาง
ดำรัส ลิ่มทองพนคุณ
กลุ่มงาน สูติ-นรีเวชกรรม โรงพยาบาลนครปฐม ต.พระปฐมเจดีย์ อ.เมือง จ.นครปฐม 73000
บทคัดย่อ
ภูมิหลัง: การตกเลือดหลังคลอด นับว่าเป็นภาวะฉุกเฉินและคุกคามต่อชีวิตของมารดาหลังคลอด โดยเฉพาะผู้ที่มีภาวะโลหิตจางร่วมด้วย ซึ่งเสี่ยงต่อการเกิดภาวะตกเลือดหลังคลอดถึงร้อยละ 50 เมื่อเทียบกับสตรีตั้งครรภ์ทั่วไป
วัตถุประสงค์: เพื่อศึกษาประสิทธิผลของการให้ยาทรานเนซามิก เอซิด เพื่อลดการเสียเลือด 2 ชั่วโมง
หลังคลอด ในสตรีที่มีภาวะโลหิตจาง ภายหลังการคลอดทางช่องคลอด
วิธีการ: เป็นการทดลองแบบสุ่มที่มีกลุ่มควบคุมแบบ ปกปิดสองทาง กลุ่มตัวอย่างทั้งหมด 80 คน โดยสุ่มตัวอย่างแบบง่าย (simple random sampling) จับฉลากสุ่มเข้าเป็นกลุ่มทดลอง และควบคุม (random assignment) เกณฑ์คัดเข้าเป็นสตรีตั้งครรภ์ 37 สัปดาห์ขึ้นไป ตั้งครรภ์เดี่ยว ไม่มีข้อห้ามในการคลอดทางช่องคลอดและมีความเข้มข้นของเลือดแรกรับที่แผนกห้องคลอดต่ำกว่า 33 % กลุ่มทดลองได้รับยาทรานเนซามิก เอซิด 1 กรัมทางหลอดเลือดดำ เมื่อทารกคลอด กลุ่มควบคุมได้รับ 0.9% normal saline ศึกษาระหว่างเดือนพฤศจิกายน 2564 ถึงเดือน มีนาคม 2565 ผลลัพธ์หลักเปรียบเทียบปริมาณการเสียเลือด และความเข้มข้นของเลือดหลังคลอด ผลลัพธ์รอง การเกิดภาวะตกเลือด และอาการไม่พึงประสงค์หลังคลอด สถิติที่ใช้ chi-square test และ independent t-test
ผล: ทั้งสองกลุ่มไม่มีความแตกต่างกันอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติของข้อมูลพื้นฐานด้านอายุ จำนวนการตั้งครรภ์ ประวัติการคลอด อายุครรภ์ เข้มข้นของเลือด การตัดฝีเย็บ และน้ำหนักทารกแรกคลอด ผลการเปรียบเทียบปริมาณการเสียเลือดหลังคลอด 2 ชั่วโมง พบว่า กลุ่มทดลองเสียเลือดน้อยกว่ากลุ่มควบคุม (175.48 มล. ± 110.90 มล. และ 368.13 มล. ± 299.70 มล., p < .001) และการเกิดอาการไม่พึงประสงค์ ได้แก่ คลื่นไส้ อาเจียน วิงเวียนและปวดศีรษะ ไม่มีความแตกต่างกันอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ
สรุป: ยาทรานเนซามิก เอซิด ขนาด 1 กรัม ทางหลอดเลือดดำมีประสิทธิผลในการลดการเสียเลือด และอุบัติการการณ์เสียเลือดหลังคลอดในผู้คลอดที่มีภาวะโลหิตจาง ภายหลังการคลอดทางช่องคลอด
 
ที่มา
Journal of The Department of Medical Services ปี 2566, January-March ปีที่: 48 ฉบับที่ 1 หน้า 35-43
คำสำคัญ
Tranexamic acid, vaginal delivery, การคลอดทางช่องคลอด, Parturients with anemia, Double-blind ramdomized controlled trial, ทรานเนซามิก เอซิด, ผู้คลอดที่มีภาวะโลหิตจาง, การทดลองแบบสุ่มที่มีกลุ่มควบคุมแบบปกปิดสองทาง