การศึกษาประสิทธิผลและความปลอดภัยของยาสหัศธาราต่อภาวะเส้นประสาทส่วนปลายเสื่อมบริเวณขาส่วนล่าง ในผู้ป่วยเบาหวานชนิดที่ 2
ปภาวี พรหมสูงวงษ์*, พรรณกร พันธ์กอง, กชพรรณ ชูพงษ์, สุริยนต์ โคตรชมภู, วิราศิณี อึ้งสำราญ, ธวัชชัย กมลธรรม
สาขาวิชาการแพทย์แผนไทยประยุกต์ มหาวิทยาลัยราชภัฏสวนสุนันทา แขวงดุสิต เขตดุสิต กรุงเทพมหานคร 10300
บทคัดย่อ
บทนำและวัตถุประสงค์: ภาวะระบบประสาทส่วนปลายเสื่อมในผู้ป่วยโรคเบาหวาน มีอาการแสดงของอาการปวด อาการชา สูญเสียความรู้สึก นำไปสู่การเกิดแผล การติดเชื้อ การถูกตัดเท้า และสูญเสียชีวิต ยาสหัศธาราเป็นยาสมุนไพรในบัญชียาหลักแห่งชาติ มีข้อบ่งใช้ ขับลมในเส้น แก้โรคลมกองหยาบ บรรเทาอาการปวดกล้ามเนื้อปวดข้อ ลดอาการเกร็งมือ และชาท้า โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาประสิทธิผลและความปลอดภัยของยาสหัศธาราต่อผู้ที่มีภาวะเส้นประสาทส่วนปลายเสื่อมบริเวณขาส่วนล่าง ในผู้ป่วยเบาหวานชนิดที่ 2 รวมไปถึงศึกษาความสัมพันธ์ต่อคุณภาพชีวิตผู้ป่วยเบาหวานชนิดที่ 2 ที่ได้รับยาสหัศธารา
วิธีการศึกษา: การศึกษานี้เป็นการศึกษาเชิงทดลอง (experimental research) โดยการสุ่มเปรียบเทียบแบบปกปิดทั้ง 2 ทาง (double-blinded, randomized controlled trial) ผู้ที่มีภาวะเส้นประสาทส่วนปลายเสื่อมบริเวณขาส่วนล่างในผู้ป่วยเบาหวานชนิดที่ 2 ที่มีอายุ 45-75 ปี ที่เข้ารับบริการคลินิกโรคเบาหวาน โรงพยาบาลคลองหลวง หน่วยบริการโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบลคลองหนึ่งจำนวน 62 คน แบ่งเป็นกลุ่มที่ 1 ได้รับยาสหัศธาราและกลุ่มที่ 2 ได้รับยาหลอกขนาดรับประทาน 500 มิลลิกรัม ครั้งละ 2 แคปซูล วันละ 3 ครั้ง ก่อนอาหารติดต่อกัน 28 วัน ทั้ง 2 กลุ่มจะได้รับการเสริมวิตามิน บี1 ครั้งละ 1 เม็ด หลังอาหารเช้า คัดกรองภาวะระบบประสาทส่วนปลายเสื่อมด้วย The Michigan Neuropathy Screening Instrument (MNSI) ประเมินประสิทธิผลด้วยแบบความเจ็บปวด Short – form McGill ประเมินอาการทางระบบรับความรู้สึกด้วย The Neuropathy Total Symptom Score-6 (NTSS-6) ประเมินคุณภาพชีวิตผู้ป่วยเบาหวานด้วย Diabetes-39
ผลการศึกษา: กลุ่มที่ได้รับยาสหัศธาราการเปลี่ยนแปลงของคะแนนความเจ็บปวด McGill ลดลง -1.66 คะแนน (95%CI: -2.23, -1.09) คะแนนรวมของอาการทางระบบรับความรู้สึก 6 อาการ ลดลง -1.24 คะแนน (95%CI: -1.83, -0.64) อาการเจ็บปวดตึง ๆ ลดลง -0.69 คะแนน (95%CI: -0.85, -0.53) และอาการมึนชา ลดลง -0.62 คะแนน (95%CI: -0.76, -0.48) ประเมินคุณภาพชีวิต Diabetes-39 มิติด้านความมีเรี่ยวแรงและความกระปรี้กระเปร่าคะแนนผลกระทบลดลง -5.27 คะแนน (95%CI: -6.81, -3.72)
อภิปรยผล:พบว่าคะแนนความเจ็บปวดและคะแนนของอาการทางระบบรับความรู้สึก ได้แก่ อาการเจ็บปวด ตึง ๆ และมึนชา คะแนนคุณภาพชีวิตมิติด้านความมีเรี่ยวแรงและความกระปรี้กระเปร่า ในกลุ่มที่ได้รับยาสหัศธารา ลดลงแตกต่างกันกับกลุ่มยาหลอกอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ (p-value < 0.05) นอกจากนี้ค่าการทำงานของตับและไต อยู่ในเกณฑ์ปกติ พบอาการไม่พึงประสงค์ ได้แก่ อาการปวดแสบร้อนท้อง ปากแห้ง คอแห้ง เวียนศีรษะและท้องผูก ระดับความรุนแรงอยู่ในระดับน้อยถึงปานกลาง
ข้อสรุปและข้อเสนอแนะ: ผลการศึกษาแสดงให้เห็นว่าการรับประทานยาสหัศธาราในผู้ป่วยเบาหวานชนิด ที่ 2 ที่มีภาวะเส้นประสาทส่วนปลายเสื่อมบริเวณขาส่วนล่าง ติดต่อกันเป็นเวลา 28 วัน ช่วยลดอาการทางระบบรับ ความรู้สึก อาการปวดและอาการมึนชา เพิ่มคุณภาพชีวิตด้านมิติด้านความมีเรี่ยวแรงและความกระปรี้กระเปร่า และไม่พบอาการไม่พึงประสงค์ที่รุนแรง
 
ที่มา
วารสารการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก ปี 2566, May-August ปีที่: 21 ฉบับที่ 2 หน้า 245-262
คำสำคัญ
ผู้ป่วยเบาหวานชนิดที่ 2, Ya Sahatsathara, diabetic peripheral neuropathy of lower legs, patients with type 2 diabetic mellitus, ยาสหัศธารา, ภาวะเส้นประสาทส่วนปลายเสื่อมบริเวณขาส่วนล่าง