การศึกษาสัมฤทธิ์ผลของสมุนไพรหญ้าหนวดแมวในการละลายนิ่วไต เปรียบเทียบกับยาโซเดียม โพแทสเซียม ซิเตรท
ชลิดา อภินิเวศ, นฤมล สินสุพรรณ, พจน์ ศรีบุญลือ, วัฒนะ ดิฐสถาพรเจริญ, ศรีน้อย มาศเกษม, อมร เปรมกมล*
ภาควิชาเวชศาสตร์ชุมชน
บทคัดย่อ
                การศึกษานี้มีวัตถุประสงค์เพื่อเปรียบเทียบสัมฤทธิ์ผลของสมุนไพรหญ้าหนวดแมว เปรียบเทียบกับยา sodium potassium citrate (SPC)  ในการลดขนาดนิ่วไต ผู้ป่วยนิ่วไต 48 คน ที่ได้รับการวินิจฉัยโดยอุลตราซาวด์ที่อาศัยอยู่ในชุมชนและสมัครใจเข้าร่วม ทำการแบ่งกลุ่มเป็น 2 กลุ่ม โดยวิธีสุ่ม ทั้ง 2 กลุ่มจะได้รับการติดตามเป็นเวลา 18 เดือน กลุ่ม G1 ได้รับชาวันละ 2 ครั้ง เช้าและเย็น จากชาหญ้าหนวดแมวบดแห้ง 2.5 กรัม ชงในน้ำร้อน 50 ซีซี กลุ่ม G2 จะได้รับยา SPC ปริมาณ 5-10 กรัม ละลายในน้ำ โดยแบ่งให้รับประทานวันละ 3 เวลา ทั้งสองกลุ่มจะได้รับการนัดหมายให้มาทำการรับยาต่อทุกๆ 5-7 สัปดาห์ และรับการตรวจอุลตราซาวด์ ตรวจปัสสาวะ ทำการบันทึกภาพ อุลตราซาวด์โดยวีโอเทป ขนาดนิ่วที่ลดลงจะคำนวณเป็นอัตราลดขนาดต่อปี ซึ่งได้ค่าเฉลี่ย ± ค่าเบี่ยงเบนมาตรฐาน (SD) เป็น 28.6 ± 16.0 % และ 33.8 ± 23.6 % ต่อปี สำหรับกลุ่ม G1 และ G2  ตามลำดับ ไม่พบ ความแตกต่างกันอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ นำกลุ่ม G1 และ G2 มารวมกันและแบ่งอัตราการลดขนาดออกเป็น 3 กลุ่มย่อย โดยกลุ่ม A มีค่าอัตราการลดขนาดมากกว่า mean +0.5 SD ระดับ M มีอัตราการลดขนาดต่อปีในช่วง mean ±0.5 SD และระดับ B มีอัตราการลดขนาดน้อยกว่า mean-0.5 SD พบว่า ในกลุ่ม B จะมีแคลเซียม และกรดยูริก ในปัสสาวะสูงกว่ากลุ่มอื่นๆ อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ ในส่วนของอาการทางคลินิก พบว่าทั้งสองกลุ่มหลัง การรักษาประมาณ 2 เดือน อาการที่มีในตอนเริ่มต้น ได้แก่ ปวดหลัง ปวดศีรษะ ปวดข้อ ปวดกล้ามเนื้อ จุกแน่นท้อง อ่อนเพลีย เป็นต้น ลดลงกว่า 90% ส่วนอาการข้างเคียงพบในกลุ่ม G2 26.3% โดยมีอาการอ่อนเพลีย ไม่อยากรับประทานอาหาร ไม่พบอาการข้างเคียงในกลุ่ม G1                การศึกษานี้แสดงให้เห็นว่าการรักษานิ่วไตด้วยสมุนไพรหญ้าหนวดแมวน่าเป็นทางเลือกที่ดี ในการรักษานิ่วไตในอีสาน อย่างไรก็ตามควรมีการศึกษาวิจัยเพิ่มเติมเพื่อจะเพิ่มอัตราการละลายนิ่วในกลุ่มซึ่งมีอัตราการละลายต่ำต่อไป
ที่มา
วารสารการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก ปี 2549, February-May ปีที่: 4 ฉบับที่ 2 หน้า 28-38
คำสำคัญ
Orthosiphon, renal stone, sodium potassium citrate, stone size reduction, ultrasonography