คุณภาพชีวิตของผู้ป่วยภาวะหัวใจล้มเหลวเรื้อรังชนิดที่มีการบีบตัวของหัวใจห้องซ้ายลดลง
วรธิมา อยู่ดี*, อัญชลี เพิ่มสุวรรณ
คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ อำเภอเมือง จังหวัดเชียงใหม่ 50200 โทรศัพท์/โทรสาร 053-944342 อีเมล [email protected]
บทคัดย่อ
งานวิจัยนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อวัดอรรถประโยชน์ และหาปัจจัยที่มีผลต่ออรรถประโยชน์ของผู้ป่วยภาวะหัวใจล้มเหลวเรื้อรังชนิดที่มีการบีบตัวของหัวใจห้องซ้ายลดลง (heart failure with reduced ejection fraction, HFrEF) วิธีวิจัย: งานวิจัยนี้ทำการศึกษารูปแบบภาคตัดขวางในผู้ป่วยหัวใจล้มเหลวเรื้อรังชนิด HFrEF ที่เข้ารับบริการ ณ แผนกผู้ป่วยนอก โรงพยาบาลมหาราชนครเชียงใหม่ ระหว่างวันที่ 1 กรกฎาคม ถึง วันที่ 31 ธันวาคม 2558 เครื่องมือที่ใช้วัดคุณภาพชีวิต คือ EuroQol five dimensional questionnaire (EQ-5D) ประกอบด้วยแบบสอบถาม 2 ส่วน คือแบบสอบถาม 5 มิติทางสุขภาพ และเป็นการวัดสุขภาพทางตรงด้วยสเกล visual analog scale (VAS) ในการวัดอรรถประโยชน์ วิเคราะห์ข้อมูลด้วยสถิตเชิงพรรณา สถิติ chi-square ใช้หาความสัมพันธ์ระหว่างคุณภาพชีวิตเชิงอรรถประโยชน์กับลักษณะพื้นฐานของกลุ่มตัวอย่าง ผลงานวิจัย: ผู้ป่วยภาวะหัวใจล้มเหลวจำนวน 180 คน ถูกคัดเข้าการศึกษา อายุเฉลี่ย 63.1±11.7 ปี โดยเป็นเพศชาย ร้อยละ 61.1 คะแนนอรรถประโยชน์เฉลี่ย และ คะแนนเฉลี่ยของ VAS เท่ากับ 0.88 ± 0.10 คะแนน และ 78.29 ± 11.97 คะแนน ตามลำดับ กลุ่มตัวอย่างประมาณครึ่งหนึ่ง ไม่มีปัญหาด้านการเคลื่อนไหว และ ไม่มีปัญหาด้านอาการเจ็บปวดหรือไม่สบายตัว ในขณะที่กลุ่มตัวอย่างประมาณร้อยละ 60 ไม่มีปัญหาด้านกิจกรรมที่ทำเป็นประจำ และไม่มีปัญหาด้านความวิตกกังวลและความซึมเศร้า โดยกลุ่มตัวอย่างเกือบทั้งหมด ร้อยละ 95.6 ไม่มีปัญหาด้านการดูแลตัวเอง เมื่อพิจารณาปัจจัยที่ส่งผลต่อคะแนนอรรถประโยชน์โดยรวมของสุขภาพในทุกๆ ด้าน พบว่า อายุที่มากขึ้น จำนวนโรคร่วม (ตั้งแต่ 4 โรค) และจำนวนชนิดของยาเฉลี่ยที่ใช้ต่อวัน (ตั้งแต่ 6 ชนิด) ปัจจัยต่างๆเหล่านี้มีผลทำให้คะแนนอรรถประโยชน์ตํ่าลงอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ (p-value=0.005, p-value=0.012 และ p-value=0.007 ตามลำดับ) สำหรับปัจจัยที่มีผลต่อคะแนน VAS ได้แก่ ระดับการศึกษา ระยะเวลาที่วินิจฉัยว่าเป็นภาวะหัวใจล้มเหลว และ การที่มีประวัติเข้ารับการรักษาตัวในโรงพยาบาลด้วยภาวะหัวใจล้มเหลวเฉียบพลัน มีผลให้คะแนน VAS ตํ่าลงอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ (p-value=0.019, p-value=0.040 และ p-value= 0.040 ตามลำดับ) สรุป: ผู้ป่วยภาวะหัวใจล้มเหลวเรื้อรังในการศึกษานี้มีคุณภาพชีวิตอยู่ในระดับค่อนข้างดี อย่างไรก็ตามปัจจัยที่อาจส่งผลให้คุณภาพชีวิตลดลง ได้แก่ อายุที่เพิ่มขึ้น จำนวนโรคร่วม และจำนวนชนิดของยา การเฝ้าระวังปัจจัยเหล่านี้ จะช่วยเพิ่มคุณภาพชีวิตในผู้ป่วยภาวะหัวใจล้มเหลวเรื้อรังชนิด HFrEF
 
ที่มา
วารสารเภสัชศาสตร์อีสาน ปี 2566, January-March ปีที่: 91 ฉบับที่ 1 หน้า 15-31
คำสำคัญ
EQ-5D, Health utility, Chronic heart failure, คุณภาพชีวิตเชิงอรรถประโยชน์, ภาวะหัวใจล้มเหลวเรื้อรัง