คุณภาพชีวิตของผู้ป่วยที่ได้รับการรักษาด้วยเครื่องกระตุ้นหัวใจด้วยไฟฟ้าแบบถาวร
โตมร ทองศรี
กลุ่มงานอายุรกรรม โรงพยาบาลพุทธชินราช พิษณุโลก
บทคัดย่อ
วัตถุประสงค์: เพื่อศึกษาคุณภาพชีวิตของผู้ป่วยที่ได้รับการรักษาด้วยเครื่องกระตุ้นหัวใจด้วยไฟฟ้าแบบถาวรโดยเปรียบเทียบกับคนปกติวิธีการศึกษา: เป็นการศึกษาแบบเปรียบเทียบ เก็บข้อมูลในช่วงเดือนมกราคมถึงเดือนธันวาคม พ.ศ. 2548 โดยใช้แบบสอบถามคุณภาพชีวิตเอสเอฟ-36 ฉบับภาษาไทยสอบถามข้อมูลคุณภาพชีวิตของผู้ป่วยที่ได้รับการรักษาด้วยเครื่องกระตุ้นหัวใจด้วยไฟฟ้าแบบถาวรในคลินิกเครื่องกระตุ้นหัวใจ โรงพยาบาลพุทธชินราชเปรียบเทียบกับคนปกติ วิเคราะห์ข้อมูลโดยใช้ Mann-Whitney U test กำหนดระดับนัยสำคัญทางสถิติที่ 0.05 ผลการศึกษา: ผู้ป่วยที่ได้รับการรักษาด้วยเครื่องกระตุ้นหัวใจด้วยไฟฟ้าแบบถาวรมี 55 ราย อายุเฉลี่ย 65±15 ปี เป็นเพศชายร้อยละ 45 โดยลักษณะทั่วไปใกล้เคียงกับกลุ่มควบคุมซึ่งมี 59 ราย กลุ่มศึกษาได้รับการรักษาด้วย เครื่องกระตุ้นหัวใจด้วยไฟฟ้าแบบ VVI ร้อยละ 87 แบบ DDD ร้อยละ 9.3 แบบ VDD ร้อยละ 3.7 โดยข้อมูล พื้นฐานของเครื่องอยู่ในเกณฑ์มาตรฐาน การวิเคราะห์คะแนนคุณภาพชีวิตด้านสุขภาพทั่วไปพบว่าได้ร้อยละ 53 ไม่แตกต่างจากกลุ่มควบคุม ส่วนการพิจารณารายด้านพบว่าด้านสมรรถภาพร่างกายคะแนนต่ำกว่ากลุ่ม ควบคุมอย่างมีนัยสำคัญ (ร้อยละ 50 เทียบกับร้อยละ 69, p=0.002) ส่วนทางด้านจิตใจ สังคม อารมณ์ ความเจ็บปวดของร่างกาย ความมั่นใจทางร่างกายและกำลังใจไม่แตกต่างจากกลุ่มควบคุมสรุป: ผู้ป่วยที่ได้รับการรักษาด้วยเครื่องกระตุ้นหัวใจด้วยไฟฟ้าแบบถาวรมีคุณภาพชีวิตโดยทั่วไปไม่แตกต่างจากคนปกติ ยกเว้นทางด้านสมรรถภาพร่างกายที่ด้อยกว่าคนปกติอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ
ที่มา
พุทธชินราชเวชสาร ปี 2549, January-April ปีที่: 23 ฉบับที่ 1 หน้า 8-14
คำสำคัญ
Quality of life, คุณภาพชีวิต, Permanent pacemaker, SF-36 questionaire, เครื่องกระตุ้นหัวใจด้วยไฟฟ้าแบบถาวร, แบบสอบถามเอสเอฟ-36