ผลของปริทันต์บําบัดคราวเดียวเสร็จด้วยเครื่องอัลตร้าโซนิกร่วมกับการใช้เจลมิโนไซคลินต่อพารามิเตอร์ทางคลินิกและสารสื่ออักเสบในผู้ป่วยโรคเบาหวานชนิดที่2
จารุพัฒน์ จุลแดง, ธีรเชษฐ์ นันทกีรติพัฒน์, ชื่นชีวิต ทองศิริ, ณรงค์ศักดิ์ เหล่าศรีสิน*
ภาควิชาทันตกรรมอนุรักษ์และทันตกรรมประดิษฐ์ คณะทันตแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ
บทคัดย่อ
วัตถุประสงค์: เพื่อศึกษาผลทางคลินิกและสารสื่ออักเสบของการใช้ยามิโนไซคลินเสริมการรักษาในผู้ป่วย
โรคปริทันต์อักเสบและเป็นเบาหวานชนิดที่ 2
วิธีดำเนินการวิจัย: อาสาสมัคร 60 คน ที่ได้รับการวินิจฉัยโรคปริทันต์อักเสบและเป็นเบาหวานชนิดที่ 2 แบ่งเป็นกลุ่มควบคุมและกลุ่มทดลอง จำนวนกลุ่มละ 30 คน อาสาสมัครทั้งหมดได้รับการทำปริทันต์บำบัดคราวเดียวเสร็จด้วยเครื่องอัลตร้าโซนิก แต่เฉพาะอาสาสมัครในกลุ่มทดลองได้รับการทำปริทันต์บำบัดคราวเดียวเสร็จด้วยเครื่องอัลตร้าโซนิกร่วมกับการใช้เจลมิโนไซคลินในครั้งแรกของการรักษาและที่ระยะเวลา 3 เดือน ตรวจพารามิเตอร์ทางคลินิกและสารสื่ออักเสบ (อินเตอร์ลิวคิน-1เบต้า อินเตอร์ลิวคิน-6 ทูเมอร์เน็คโครซิสแฟกเตอร์-แอลฟ่า และโมโนไซต์คีโมแอทแทร็กแทนท์โปรตีน-1) อะดิโพเนคตินและพอร์ไฟโรโมแนส จิงจิวาลิส แอนติบอดี ก่อนและหลังการรักษา 3 และ 6 เดือน
ผลการศึกษา: อาสาสมัครทั้ง 2 กลุ่ม มีพารามิเตอร์ทางคลินิกดีขึ้นอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติหลังการรักษา 3 และ 6 เดือน ในกลุ่มทดลองมีค่าเฉลี่ยของร่องลึกปริทันต์ลดลงและค่าเฉลี่ยของระดับยึดเกาะทางคลินิกเพิ่มขึ้นมากกว่ากลุ่มควบคุมอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติหลังการรักษา 3 เดือน (p<0.05) อาสาสมัครทั้ง 2 กลุ่มมีอินเตอร์ลิวคิน-6 ทูเมอร์เน็คโครซิสแฟกเตอร์-แอลฟ่า และโมโนไซต์คีโมแอทแทร็กแทนท์โปรตีน-1 ลดลงอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติหลังการรักษา 3 เดือน อาสาสมัครในกลุ่มทดลองมีอะดิโพเนคตินเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติหลังการรักษา 6 เดือน นอกจากนี้ยังพบระดับพอร์ไฟโรโมแนส จิงจิวาลิส แอนติบอดีของอาสาสมัครทั้ง 2 กลุ่มลดลงอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ
สรุป: ปริทันต์บาบัดคราวเดียวเสร็จด้วยเครื่องอัลตร้าโซนิกร่วมกับการใช้เจลมิโนไซคลินในผู้ป่วยโรคปริทันต์อักเสบและเป็นเบาหวานชนิดที่ 2 เป็นวิธีการรักษาที่มีประสิทธิภาพ ทำให้พารามิเตอร์ทางคลินิกและสารสื่ออักเสบดีขึ้นภายหลังการรักษา 3 เดือน
 
 
ที่มา
วารสารมหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ (สาขาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี) ปี 2565, July-December ปีที่: 14 ฉบับที่ 28 หน้า 36-52
คำสำคัญ
Type 2 diabetes, Periodontitis, โรคปริทันต์อักเสบ, โรคเบาหวานชนิดที่ 2, minocycline gel, เจลมิโนไซคลิน, Subgingival Ultrasonic Debridement, ปริทันต์บำบัดด้วยอัลตร้าโซนิก