อัตราความสำเร็จของการใช้เทคนิคการใส่ลมในบอลลูนท่อช่วยหายใจด้วย video laryngoscope ในผู้ป่วยที่มารับการผ่าตัดกระดูกขากรรไกรและใบหน้าชนิดไม่เร่งด่วน: การศึกษาแบบสุ่มมีกลุ่มควบคุม
ภัสสร แจ้งยอดสุขแผนกวิสัญญีวิทยา โรงพยาบาลชลบุรี ชลบุรี 20000 ประเทศไทย
บทคัดย่อ
บทนำ: ปัจจุบันการใส่ท่อช่วยหายใจทางจมูกด้วย video laryngoscope ร่วมกับ Magill forceps เป็นที่นิยม เนื่องจากทำให้เห็นกล่องเสียงได้ชัดขึ้น และอัตราความสำเร็จขึ้นกับตำแหน่งปลายท่อช่วยหายใจวางอยู่หน้ากล่องเสียง Magill forceps จึงใช้กำหนดทิศทางของปลายท่อช่วยหายใจ แต่ก็มีโอกาสทำให้เยื่อบุช่องปากบาดเจ็บได้ การใส่ลมในบอลลูนท่อช่วยหายใจเป็นอีกวิธีที่ช่วยให้ปลายท่อกระดกขึ้นวางอยู่หน้ากล่องเสียงได้เช่นกันและยังลดโอกาสเกิดการฉีกขาดของเนื้อเยื่อในช่องปากได้อีกด้วย
วิธีการศึกษา: กลุ่มตัวอย่างทั้งหมด 80 คน แบ่งเป็นสองกลุ่ม กลุ่มละ 40 คนด้วยวิธีจับฉลากในผู้ป่วยที่เข้ารับการผ่าตัดกระดูกขากรรไกรและใบหน้า เปรียบเทียบอัตราความสำเร็จของการใช้เทคนิคการใส่ลมในบอลลูนท่อช่วยหายใจ (กลุ่ม B) และกลุ่มที่ใช้ Magill forceps (กลุ่ม M) สถิติวิจัยใช้โปรแกรม STATA v. 15, inferential statistics, descriptive statistic, unpaired t-test, P<0.05 ถือว่ามีความสำคัญทางสถิติ
ผลการศึกษา: ในกลุ่ม B พบว่ามีอัตราความสำเร็จในการใส่ท่อช่วยหายใจทุกคน และระยะเวลาที่เริ่มมองเห็นปลายท่อช่วยหายใจจนใส่ท่อช่วยหายใจได้สำเร็จในกลุ่ม B เท่ากับ 15.1±10.8 วินาที และกลุ่ม M เท่ากับ 20.4±9.4 วินาที (P=0.02) ซึ่งแตกต่างกันอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ และไม่พบความแตกต่างทางสถิติในข้อมูลพื้นฐาน และ ภาวะแทรกซ้อนของทั้งสองกลุ่ม
สรุปผล: เทคนิคการใส่ลมในบอลลูนท่อช่วยหายใจ ช่วยการใส่ท่อช่วยหายใจทางจมูกโดยใช้ video laryngoscope ในผู้ป่วยที่มารับการผ่าตัดกระดูกขากรรไกรและ ใบหน้าชนิดไม่เร่งด่วนสามารถทำได้สำเร็จทุกคน และ เทคนิคนี้ใช้เวลาน้อยกว่าวิธีการใช้ Magill forceps นอกจากนี้ภาวะแทรกซ้อนของทั้งสองกลุ่มไม่แตกต่างกัน
ที่มา
วิสัญญีสาร ปี 2566, November-December
ปีที่: 49 ฉบับที่ 6 หน้า 397-404
คำสำคัญ
Video laryngoscope, cuff inflation technique, Magill forceps, nasotracheal intubation, การใส่ท่อช่วยหายใจทางจมูก เทคนิคการใส่ลมในบอลลูนท่อช่วยหายใจ