ประสิทธิผลของน้ำตาลลําไยต่อการเพิ่มคุณภาพการนอนหลับในอาสาสมัครที่มีภาวะนอนไม่หลับ
ฉัตรภา หัตถโกศล*, ศิริกัญญา ลับแล, มนีรัตน์ เตชะวิเชียร, ญาณิศา ทับเจริญ, สุวิมล ทรัพย์วโรบล, พร้อมลักษณ์ สรรพ่อค้า, สิริกัญญา โตรักษา
ภาควิชาโภชนวิทยา คณะสาธารณสุขศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล 420/1 ถนนราชวิถี แขวงทุ่งพญาไท เขตราชเทวี กรุงเทพฯ 10400 ประเทศไทย โทรศัพท์ +66 2354 8539 อีเมล [email protected], [email protected]
บทคัดย่อ
บทนำ: การนอนหลับที่ไม่มีคุณภาพอาจส่งผลเสียต่อสุขภาพ มีรายงานการศึกษาพบว่า ลำไยและสมุนไพรบางชนิดมีสารสำคัญที่ส่งผลต่อระบบประสาทและสมอง ช่วยทำให้คุณภาพการนอนหลับดีขึ้น
วัตถุประสงค์: เพื่อศึกษาประสิทธิผลของการบริโภคน้ำตาลลำไยต่อคุณภาพการนอนหลับในอาสาสมัครที่มีภาวะนอนไม่หลับ
วิธีการศึกษา: การวิจัยเชิงทดลองแบบสุ่มชนิดมีกลุ่มควบคุมแบบคู่ขนานในกลุ่มตัวอย่างอาสาสมัครที่มีภาวะนอนไม่หลับระดับเล็กน้อยถึงปานกลาง อายุระหว่าง 35 ถึง 60 ปี จำนวน 54 คน แบ่งเป็น 4 กลุ่ม ได้แก่ กลุ่มที่ได้รับน้ำตาลทรายแดง (กลุ่มควบคุม) จำนวน 12 คน น้ำตาลลำไย จำนวน 14 คน น้ำตาลลำไยออร์แกนิค จำนวน 15 คน และน้ำตาลลำไยออร์แกนิคผสมสมุนไพร จำนวน 13 คน โดยให้กลุ่มตัวอย่างบริโภคน้ำตาลที่ได้รับวันละ 1 ช้อนโต๊ะ (15 mL) ผสมกับน้ำเปล่าที่อุณหภูมิห้อง (150 - 200 mL) ดื่มก่อนนอน (15 - 30 นาที) เป็นเวลา 4 สัปดาห์ จากนั้นประเมินคุณภาพการนอนหลับในสัปดาห์ที่ 0 และ 4 โดยใช้แบบประเมินคุณภาพการนอนหลับ การวิเคราะห์ความแตกต่างภายในกลุ่มใช้สถิติ Wilcoxon signed rank test ความแตกต่างระหว่างกลุ่มใช้สถิติ Kruskal-Wallis test กำหนดระดับนัยสำคัญทางสถิติเท่ากับ .05 
ผลการศึกษา: เมื่อเปรียบเทียบภายในกลุ่มพบว่า กลุ่มที่ได้รับน้ำตาลลำไย น้ำตาลลำไยออร์แกนิค และน้ำตาลลำไยออร์แกนิคผสมสมุนไพร มีคะแนนคุณภาพการนอนหลับดีขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ (P < .05) ส่วนกลุ่มที่ได้รับน้ำตาลทรายแดงภายหลังการทดลองไม่พบความแตกต่างของคะแนนคุณภาพการนอนหลับ (P > .05) สำหรับการเปรียบเทียบระหว่างกลุ่มไม่พบความแตกต่างของคะแนนคุณภาพการนอนหลับ (P > .0
สรุป: การบริโภคน้ำตาลลำไยทั้ง 3 ชนิด ช่วยทำให้คุณภาพการนอนหลับดีขึ้น
 
ที่มา
รามาธิบดีเวชสาร ปี 2566, April-June ปีที่: 46 ฉบับที่ 2 หน้า 29-42
คำสำคัญ
Insomnia, sleep quality, คุณภาพการนอนหลับ, Longan syrup, น้ำตาลลำไย, ภาวะนอนไม่หลับ