ผลการผ่าตัดเชื่อมปล้องกระดูกสันหลังส่วนเอวด้วยเศษกระดูกปลูกที่ได้จากการผ่าตัดและไฮดรอกซีอะพาไทต์ผสมกับไขกระดูกจากปล้องกระดูกสันหลัง: การศึกษาเปรียบเทียบแบบสุ่มชนิดมีกลุ่มควบคุม
สายันต์ สุเมธวานิชย์*, อนุุวััฒน์ ไพบููลย์
กลุ่่
บทคัดย่อ
ภูมิหลัง:การผ่าตัดคลายการกดเบียดรากประสาทร่วมกับเชื่อมและยึดตรึงกระดูกสันหลัง (laminectomy with instrumented fusion) เป็นวิธีที่นิยมใช้รักษาโรคช่องกระดูกสันหลัง ส่วนเอวตีบที่มีสาเหตุจากกระดูกสันหลังเสื่อม ผลการรักษาในระยะยาวขึ้นกับความสำเร็จในการเชื่อมปล้องกระดูกสันหลัง การใช้ชิ้นกระดูกปลูกจากกระดูกเชิงกรานของผู้ป่วย (AIBG) ถือเป็นมาตรฐานในการเชื่อมปล้องกระดูกแต่ก็มีผลข้างเคียงที่ไม่พึงประสงค์ การใช้เศษกระดูกปลูกที่ได้จากการผ่าตัด (LBG) และไฮดรอกซีอะพาไทต์ (HA) ถูกนำมาทดแทน AIBG แต่พบว่า ทั้งสองสิ่งยังขาด osteoprogenitor cell และคุณสมบัติกระตุ้นการสร้างกระดูก ผู้วิจัยจึงนำไขกระดูกจากปล้องกระดูกสันหลังขณะผ่าตัด (BMA) มาผสมกับ LBG และ HA เพื่อเพิ่มอัตราการเชื่อมปล้องกระดูก
วัตถุประสงค์:เพื่อศึกษาอัตราการเชื่อมปล้องกระดูกสันหลังส่วนเอวในการผ่าตัด laminectomy with instrumented fusion เปรียบเทียบระหว่างการใช้ LBG และ HA ผสมกับ BMA กับการใช้ LBG และ HA
วัสดุและวิธีการ:เป็นการศึกษาเปรียบเทียบแบบสุ่มชนิดมีกลุ่มควบคุมในผู้ป่วยช่องกระดูกสันหลังส่วนเอวตีบที่มีสาเหตุจากกระดูกสันหลังเสื่อมที่ได้รับการผ่าตัด laminectomy with posterolateral instrumented fusion ใน รพ.ลำปาง ช่วงเดือนเมษายน2562–กันยายน2565 กลุ่มควบคุมเชื่อมปล้องกระดูกโดยใช้ LBG และ HA กลุ่มทดลองใช้ LBG และ HA ผสมกับ BMA ประเมินอัตราการเชื่อมติดของปล้องกระดูกที่ 6 และ 12 เดือน ตาม Christiansen’s classification criteria ด้วย CT scan ปริมาณการเสียเลือด ระยะเวลาผ่าตัด ระยะเวลานอนโรงพยาบาลและอัตราการติดเชื้อแผลผ่าตัด เปรียบเทียบระหว่างกลุ่ม
ผลการศึกษา:อัตราการเชื่อมติดของปล้องกระดูกที่ 6 เดือนในกลุ่มทดลอง (n=48) สูงกว่ากลุ่มควบคุม (n=47) อย่างมีนัยสำคัญ (ร้อยละ 39.6 vs 12.8, p=0.005) ที่ 12 เดือนพบว่าอัตราการเชื่อมติดของกลุ่มทดลองมีแนวโน้มสูงกว่ากลุ่มควบคุม (ร้อยละ 75.0 vs 55.3, p=0.054) เมื่อจำแนกตามระดับการเชื่อมปล้องกระดูกพบว่าอัตราที่สูงกว่านี้พบในกลุ่มที่เชื่อมปล้องกระดูก 2–3 ระดับ (ร้อยละ 85.2 vs 58.1, p=0.042) ปริมาณการเสียเลือด ระยะเวลาผ่าตัด ระยะเวลานอนโรงพยาบาลและการติดเชื้อแผลผ่าตัดของทั้งสองกลุ่มไม่แตกต่างกัน
สรุป:การใช้ BMA จาก vertebral body ผสมเพิ่มเข้าไปใน LBG และ HA ช่วยเพิ่มอัตราการเชื่อมติดของปล้องกระดูกสันหลังส่วนเอวอย่างมีนัยสำคัญที่ 6 เดือนและที่ 12 เดือน ในกลุ่ม 2−3 ระดับ แต่ไม่แตกต่างกันในกลุ่ม 4−6 ระดับ โดยไม่เพิ่มภาวะแทรกซ้อน
 
ที่มา
Lampang Medical Journal ปี 2566, July-December ปีที่: 44 ฉบับที่ 2 หน้า 48-57
คำสำคัญ
posterolateral lumbar fusion instrumentation, local bone graft, bone marrow aspiration, hydroxyapatite fusion rate randomized-controlled trial, เชื่อมปล้องกระดูกสันหลังไขกระดูก, เศษกระดูกปลูกที่ได้จากการผ่าตัด, ไฮดรอกซีอะพาไทต์, อัตราการเชื่อมติด, การศึกษาเปรียบเทียบแบบสุ่มชนิดมีกลุ่มควบคุม