ประสิทธิภาพของน้ายาบ้วนปาก 0.1% ไคโตซาน-เคอร์คูมินอยด์ในการรักษาโรคไลเคน แพลนัส ในช่องปากและการป้องกันการกลับเป็นซ้าของโรค
ศิริมา มหัทธนาดุลย์*, กนกพร ปางสมบูรณ์, มุสตาฟา วารก้า เมี่ยน, สุรีรัตน์ เจะและสาขาวิชาเภสัชกรรมคลินิก คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ ต
บทคัดย่อ
บทนำและวัตถุประสงค์: การศึกษานี้มีวัตถุประสงค์เพื่อประเมินประสิทธิภาพการรักษาของน้ำยาบ้วนปาก0.1% ไคโตซาน-เคอร์คูมินอยด์ ที่ปราศจากแอลกอฮอล์ ซึ่งมีฤทธิ์ลดการอักเสบและฤทธิ์ต้านเชื้อรา ในการจัดการโรคไลเคน แพลนัส ในช่องปาก เปรียบเทียบกับน้ำยาบ้วนปากมาตรฐาน 0.1% ไตรแอมซิโนโลน อะเซโทไนด์ ซึ่งมีฤทธิ์ลดการอักเสบ เพื่อเป็นข้อมูลการใช้ยาทางคลินิกในการใช้เป็นยาทางเลือกรักษาโรคไลเคน แพลนัส ในช่องปาก
วิธีการศึกษา: ทำการศึกษานำร่องในรูปแบบสุ่มและมีกลุ่มควบคุมแบบปกปิดทางเดียว ณ โรงพยาบาลทันตกรรม คณะทันตแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ ช่วงเดือนกุมภาพันธ์ 2019 – เดือนเมษายน 2021 ผู้เข้าร่วมวิจัยมีอายุ 18 ปีขึ้นไป ที่ได้รับการตรวจวินิจฉัยแล้วว่าเป็นโรคไลเคน แพลนัส จากทันตแพทย์สาขาอายุรศาสตร์ช่องปาก ผู้ป่วยทั้งหมด 20 คน ถูกสุ่มแบ่งเป็น 2 กลุ่มให้ได้รับตำรับน้ำยาบ้วนปากไคโตซาน-เคอร์คูมินอยด์ หรือน้ำยาบ้วนปากไตรแอมซิโนโลน อะเซโทไนด์ โดยใช้บ้วนปากครั้งละ 5 มิลลิลิตร เป็นเวลา 2 นาที วันละ 4 ครั้ง ติดต่อกันเป็นเวลา 4 สัปดาห์ วัดผลลัพธ์หลักทางการวิจัยในด้านการลดระดับความรุนแรงของการเกิดรอยโรค การลดจำนวนของการเกิดโคโลนีของเชื้อราในช่องปาก และการเกิดการกลับเป็นซ้ำของโรค
ผลการศึกษา: ผลการศึกษาแสดงให้เห็นว่า ภายในสัปดาห์ที่ 4 ของการรักษาในกลุ่มผู้ป่วยที่มีลักษณะรอยโรคเป็นรอยถลอก ผู้ป่วยจำนวน 3 คนใน 6 คน (50%) ในกลุ่มที่ได้รับน้ำยาบ้วนปากไตรแอมซิโนโลน อะเซโทไนด์ และผู้ป่วยจำนวน 2 คนใน 8 คน (25%) ในกลุ่มที่ได้รับน้ำยาบ้วนปากไคโตซาน-เคอร์คูมินอยด์ ตรวจไม่พบรอยโรคและไม่มีอาการของโรค ในขณะที่ในกลุ่มผู้ป่วยที่มีแผลอักเสบในช่องปาก ผู้ป่วยทั้ง 3 คน ในกลุ่มที่ได้รับน้ำยาบ้วนปากไตรแอมซิโนโลน อะเซโทไนด์ และผู้ป่วย 1 คน ในกลุ่มที่ได้รับน้ำยาบ้วนปากไคโตซาน-เคอร์คูมินอยด์ มีคะแนนความรุนแรงของแผลอักเสบลดลงจาก 16 และ 11 เหลือ 5 และ 6 ตามลำดับ ลักษณะเป็นเพียงรอยถลอก ผู้ป่วยทั้งสองกลุ่มการศึกษาไม่มีอาการปวดและปากแห้งภายในสัปดาห์ที่ 2 ของการรักษา ผลต้านการเกิดโคโลนีของเชื้อราแคนดิดาในช่องปาก พบว่า ที่สัปดาห์ที่ 4 ของการรักษา ในกลุ่มที่ได้รับน้ำยาบ้วนปากไคโตซาน-เคอร์คูมินอยด์ มีจำนวนผู้ป่วยที่ตรวจพบเชื้อราในช่องปากลดลงจาก 7 ใน 9 คน (ร้อยละ 77.8) เป็นตรวจไม่พบเชื้อราทั้ง 7 คน และในกลุ่มที่ได้รับน้ำยาบ้วนปากไตรแอมซิโนโลน อะเซโทไนด์ มีจำนวนผู้ป่วยที่ตรวจพบเชื้อราแคนดิดาในช่องปากลดลงจาก 8 คนใน 10 คน (ร้อยละ 80) เป็น 6 คนใน 10 คน (ร้อยละ 60)โดยมีผู้ป่วย 2 คนเป็นผู้ที่ตรวจไม่พบการเกิดเชื้อราแคนดิดาในช่องปากก่อนการรักษาแต่กลับพบการติดเชื้อราแคนดิดาซ้ำซ้อนในสัปดาห์ที่ 4 ของการรักษา ผู้ป่วยทั้งสองกลุ่มการศึกษาไม่มีการกลับเป็นซ้ำของโรคเมื่อทำการติดตามผลภายหลังการรักษานาน 6 เดือน
อภิปรายผล: น้ำยาบ้วนปากไตรแอมซิโนโลน อะเซโทไนด์ มีประสิทธิภาพสูงในการต้านอักเสบแต่ไม่มีฤทธิ์ต้านเชื้อรา ในการศึกษานี้พบว่าน้ำยาบ้วนปาก 0.1% ไคโตซาน-เคอร์คูมินอยด์ที่ปราศจากแอลกอฮอล์มีประสิทธิภาพเทียบเคียงกับน้ำยาบ้วนปาก 0.1% ไตรแอมซิโนโลน อะเซโทไนด์ในการจัดการอาการแสดงและอาการของโรคไลเคนแพลนัส ในช่องปากโดยมีระยะเวลาที่ไม่มีอาการของโรคและประสิทธิภาพในการลดอาการปวดแผลหรือความแห้งในช่องปากเทียบเคียงกัน ในทางตรงกันข้าม มีเพียงผู้ป่วยกลุ่มที่ได้รับน้ำยาบ้วนปากไคโตซาน-เคอร์คูมินอยด์เท่านั้นที่หายจากการติดเชื้อราแคนดิดาอย่างสมบูรณ์ นอกจากนี้น้ำยายาบ้วนปากไคโตซาน-เคอร์คูมินอยด์อาจมีประสิทธิภาพในการลดอัตราการเกิดการกลับเป็นซ้ำของอาการโรคได้
ข้อสรุปและข้อเสนอแนะ: น้ำยาบ้วนปาก 0.1% ไคโตซาน-เคอร์คูมินอยด์ที่ปราศจากแอลกอฮอล์มีศักยภาพในการใช้เป็นยารักษาทางเลือกในผู้ป่วยโรคไลเคน แพลนัส ในช่องปากที่มีการติดเชื้อราแคนดิดาร่วม หรือในผู้ป่วยที่เกิดการติดเชื้อราแคนดิดาซ้ำซ้อนระหว่างการใช้น้ำยาบ้วนปากไตรแอมซิโนโลน อะเซโทไนด์รักษาโรค
ที่มา
วารสารการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก ปี 2566, September-December
ปีที่: 21 ฉบับที่ 3 หน้า 511-525
คำสำคัญ
Mouthwash, Oral lichen planus, Curcuminoids, Chitosan, oral candidiasis, โรคไลเคน แพลนัส ในช่องปาก, โรคราแคนดิดาในช่องปาก, เคอร์คูมินอยด์, ไคโตซาน, น้ายาบ้วนปาก