การประเมินคุณภาพชีวิตของสตรีวัยหมดประจำเดือน: การเปรียบเทียบระหว่างกลุ่มผู้ใช้และไม่ใช้ฮอร์โมนทดแทน
ทิพยาภรณ์ สมศักดิ์*, วัชรี เลอมานกุล
ฝ่ายเภสัชกรรม โรงพยาบาลศูนย์นครปฐม จังหวัดนครปฐม
บทคัดย่อ
การวิจัยนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อวัดคุณภาพชีวิตของสตรีวัยหมดประจำเดือน โดยเปรียบเทียบระหว่างสตรีที่ได้รับและไม่ได้รับฮอร์โมนทดแทน กลุ่มตัวอย่างเป็นสตรีที่สมัครใจเข้าร่วมการวิจัยจำนวน 135 รายที่คลินิกสตรีวัยทอง ศูนย์ส่งเสริมสุขภาพเขต 4 จังหวัดราชบุรี และโรงพยาบาลศูนย์นครปฐม ซึ่งมีอายุระหว่าง 40 ? 62 ปี และเป็นผู้ได้กำลังได้รับฮอร์โมนทดแทน 52 ราย เก็บรวบรวมข้อมูลโดยให้ผู้เข้าร่วมวิจัยตอบแบบสอบถามด้วยตนเอง  ใช้แบบประเมินภาวะการขาดฮอร์โมนเอสโตรเจน 15 ข้อ และแบบสอบถามวัดคุณภาพชีวิต คือ menopause ? specific quality of life questionnaire (MENQOL) ฉบับภาษาไทย  ซึ่งแบ่งออกเป็น 4 ด้านคือ vasomotor, psychosocial, physical, และ sexual จำนวน 29 ข้อ ผลการวิจัยพบว่าค่า Cronbach?s a coefficients ของแบบสอบถาม MENQOL มีค่า 0.80-0.87       คุณภาพชีวิตในแต่ละด้านของกลุ่มที่ใช้แตกต่างจากกลุ่มที่ไม่ใช้ฮอร์โมนทดแทนอย่างไม่มีนัยสำคัญทางสถิติ สตรีที่อยู่ในระยะหลังหมดประจำเดือนที่ใช้ฮอร์โมนทดแทน มีคุณภาพชีวิตดีกว่าผู้ไม่ใช้ฮอร์โมนทดแทนในด้าน physical (p = 0.015) และ sexual (p = 0.011) ในกลุ่มที่มีคะแนนอาการขาดฮอร์โมนในระดับสูง ผู้ที่ใช้ฮอร์โมนทดแทนมีคุณภาพชีวิตดีกว่าผู้ไม่ใช้ด้าน psychosocial (p = 0.016) เมื่อเปรียบเทียบภายในกลุ่มสตรีที่ใช้ฮอร์โมนทดแทนด้วยกัน   พบว่าไม่มีความแตกต่างระหว่างกลุ่มสตรีที่อยู่ในระยะก่อนและหลังหมดประจำเดือน สำหรับการเปรียบเทียบระหว่างผู้ที่มีคะแนนอาการขาดฮอร์โมนต่ำและสูง มีความแตกต่างอย่างมีนัยสำคัญในด้าน physicalและด้าน sexual (p < 0.05) การเปรียบเทียบภายในกลุ่มสตรีที่ไม่ใช้ฮอร์โมนทดแทน ผู้ที่อยู่ในระยะใกล้หมดประจำเดือน มีคุณภาพชีวิตในด้าน sexual ดีกว่าผู้ที่อยู่ในระยะหลังหมดประจำเดือน (p = 0.021) สำหรับผู้ที่มีคะแนนอาการขาดฮอร์โมนต่ำมีคุณภาพชีวิตดีกว่าผู้ที่มีคะแนนอาการขาดฮอร์โมนสูงในทุกด้าน (p < 0.001) การวิจัยนี้แสดงให้เห็นว่า ถึงแม้ว่าคุณภาพชีวิตของสตรีโดยรวม ที่ใช้และไม่ใช้ฮอร์โมนทดแทน ไม่มีความแตกต่างกัน แต่กลุ่มสตรีระยะหลังหมดประจำเดือนที่ใช้ฮอร์โมนทดแทน มีคุณภาพชีวิตที่ดีกว่าผู้ที่ไม่ใช้ฮอร์โมนทดแทนในบางด้าน
ที่มา
วารสารเภสัชกรรมโรงพยาบาล ปี 2549, February ปีที่: ฉบับที่ หน้า