การเปรียบเทียบระหว่างผลการรักษาด้วยคลื่นกระแทกกับเครื่องอัลตร้าซาวด์ต่อระดับความเจ็บปวดในผู้ป่วยอาการปวดกล้ามเนื้อและพังผืดของกล้ามเนื้อทราฟีเซียสส่วนบน
ลักขณา ทองมีแผนกกายภาพบำบัด โรงพยาบาลสรรพสิทธิประสงค์ ตำบลในเมือง อำเภอเมือง จังหวัดอุบลราชธานี 34000
บทคัดย่อ
ภูมิหลัง: จากสถิติผู้ป่วยที่มารับการรักษาทางกายภาพบำบัดโรงพยาบาลสรรพสิทธิประสงค์ ส่วนใหญ่เป็นผู้ป่วยทางระบบกระดูก และกล้ามเนื้อประมาณร้อยละ 50 โดยความผิดปกติที่พบบ่อย คือ อาการปวดกล้ามเนื้อและพังผืด โดยเฉพาะบริเวณกล้ามเนื้อทราฟีเซียสส่วนบน ซึ่งรบกวนการทำงานและการดำเนินชีวิตของผู้ป่วย การรักษาที่ใช้เพื่อลดปวดส่วนใหญ่ใช้เครื่องอัลตร้าซาวด์และแผ่นประคบร้อน และมีการรักษาทางกายภาพบำบัดอีกแบบหนึ่งที่ใช้ในการลดปวด คือ การรักษาด้วยคลื่นกระแทก หรือ shockwave therapy (SWT) อย่างไรก็ตามการใช้คลื่นกระแทกยังไม่เป็นที่แพร่หลาย เนื่องจากงานวิจัยสนับสนุนผลการรักษายังไม่เพียงพอ ผู้วิจัยจึงสนใจศึกษาเปรียบเทียบระหว่างผลการรักษาด้วยคลื่นกระแทกกับคลื่นอัลตร้าซาวด์ วัตถุประสงค์: เพื่อเปรียบเทียบผลการรักษาระหว่างคลื่นกระแทกและการรักษาด้วยเครื่องอัลตร้าซาวด์ต่อระดับความเจ็บปวดในผู้ป่วยอาการปวดกล้ามเนื้อและพังผืดของกล้ามเนื้อทราฟีเซียสส่วนบน วิธีการ: การวิจัยเชิงทดลองทางคลินิกแบบสุ่มในผู้ป่วยที่มีอาการปวดกล้ามเนื้อและพังผืดบริเวณกล้ามเนื้อ ทราฟีเซียสส่วนบนที่เข้ารับการรักษาที่แผนกกายภาพบำบัดโรงพยาบาลสรรพสิทธิประสงค์ ระหว่างเดือนมกราคม ถึงเดือนกรกฎาคม พ.ศ. 2561 โดยแบ่งผู้ป่วยออกเป็นสองกลุ่ม กลุ่มละ 30 คน ได้แก่ กลุ่มที่ได้รับการรักษาด้วยคลื่นกระแทกและกลุ่มที่ได้รับการรักษาด้วยเครื่องอัลตร้าซาวด์ เก็บข้อมูลระดับความเจ็บปวดโดยใช้ visual analog scale (VAS) ของผู้ป่วยก่อนและหลังการรักษา ใช้สถิติ pair t-test ในการวิเคราะห์ระดับความเจ็บปวดก่อนและหลังการรักษาในผู้ป่วยกลุ่มเดียวกัน และใช้สถิติ student t-test เปรียบเทียบข้อมูลระหว่างกลุ่มที่ได้รับการรักษาด้วยคลื่นกระแทกและเครื่องอัลตร้าซาวด์ ผล: ก่อนการรักษาผู้ป่วยที่มารับการรักษาทั้งสองกลุ่มมีระดับความเจ็บปวดไม่แตกต่างกัน (p = .136) หลังการรักษาทั้งสองกลุ่มมีระดับความเจ็บปวดลดลงอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ (p < .001) ในกลุ่มที่รักษาด้วยคลื่นกระแทกมีระดับความปวดก่อนและหลังการรักษาเฉลี่ย 5.90±1.63 และ 1.83±1.64 ตามลำดับ ส่วนกลุ่มที่ได้รับการรักษาด้วยคลื่นอัลตร้าซาวด์มีระดับความปวดก่อนและหลังการรักษาเฉลี่ย 6.47±1.25 และ 4.33±1.94 ตามลำดับ นอกจากนี้ยังพบว่าหลังรักษา กลุ่มผู้ป่วยที่ได้รับการรักษาด้วยคลื่นกระแทกและการรักษาด้วยเครื่องอัลตราซาวด์ มีระดับความเจ็บปวดหลังรักษา เฉลี่ย 1.83±1.64 และ 4.33±1.94 ตามลำดับ โดยแตกต่างระหว่างกลุ่มอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ (p < .001) สรุป: การรักษาผู้ป่วยด้วยคลื่นกระแทกสามารถลดปวดในผู้ป่วยที่มีพยาธิสภาพของกล้ามเนื้อและพังผืดบริเวณกล้ามเนื้อทราฟีเซียสส่วนบนได้เช่นเดียวกับการรักษาด้วยเครื่องอัลตร้าซาวด์
ที่มา
Journal of The Department of Medical Services ปี 2566, October-December
ปีที่: 84 ฉบับที่ 4 หน้า 14-20
คำสำคัญ
Myofascial pain syndrome, Ultrasound therapy, Shockwave therapy, คลื่นกระแทก, เครื่องอัลตร้าซาวด์, อาการปวดกล้ามเนื้อและพังผืด