ประสิทธิผลของการรักษาระหว่างเครื่องกระตุ้นประสาท-ส่วนปลายด้วยแม่เหล็กไฟฟ้ากับการลงเข็มในผู้ป่วยกลุ่มอาการปวดกล้ามเนื้อและพังผืดคอ
ณัฒิณี บัญญัติ
กลุ่มงานเวชกรรมฟื้นฟู โรงพยาบาลพุทธชินราช พิษณุโลก
บทคัดย่อ
กลุ่มอาการปวดกล้ามเนื้อและพังผืด (myofascial pain syndrome, MPS) พบบ่อยในผู้ป่วยที่มาด้วยอาการปวดคอ การรักษาโดยการลงเข็ม (dry needling, DN) เป็นที่นิยมและยอมรับในการรักษาผู้ป่วย MPS และปัจจุบันเริ่มมีการรักษาผู้ป่วย MPS ด้วยเครื่องกระตุ้นประสาทส่วนปลายด้วยแม่เหล็กไฟฟ้า (PMS) มากขึ้น งานวิจัยนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อเปรียบเทียบประสิทธิผลของสองเทคนิคนี้ ศึกษาในอาสาสมัคร MPS คอจำนวน 44 คน โดยสุ่มเป็น 2 กลุ่ม คือกลุ่ม PMS และกลุ่ม DN วัดค่ามัธยฐานระดับคะแนนความเจ็บปวด (visual analog scale, VAS) และคะแนนดัชนีวัดความบกพร่องความสามารถของคอฉบับภาษาไทย (NDI-TH) ในช่วงก่อนการรักษา หลังการรักษาที่ 2 และ 4 สัปดาห์ ผลการศึกษาพบว่า ทั้งกลุ่ม PMS และกลุ่ม DN มีค่ามัธยฐานระดับคะแนน VAS และ NDI-TH ลดลงที่หลังการรักษา 2 และ 4 สัปดาห์อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ และเมื่อเทียบการเปลี่ยนแปลงของคะแนนระหว่างกลุ่ม PMS และ DN พบว่า ค่ามัธยฐานคะแนน VAS และ NDI-TH ไม่แตกต่างกันอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ ดังนั้นงานวิจัยนี้พบว่า PMS ลดอาการปวดและเพิ่มความสามารถในการทำกิจกรรมในผู้ป่วย MPS คอได้ไม่แตกต่างกับการรักษาโดย DN
 
ที่มา
วารสารวิชาการสาธารณสุข ปี 2566, July-August ปีที่: 32 ฉบับที่ Suppl 2 หน้า S310-S319
คำสำคัญ
Dry needling, peripheral nerve stimulation, myofascial pain syndrome of neck, เครื่องกระตุ้นประสาทส่วนปลายด้วยแม่เหล็กไฟฟ้า, การลงเข็ม, กลุ่มอาการปวดกล้ามเนื้อและพังผืดคอ