ผลการตัดชิ้นเนื้อด้วยเข็มในผู้ป่วยที่ตรวจพบก้อนเต้านม ระหว่างการใช้อัลตราซาวน์กับการคลำด้วยมือ
พัชราวรรณ ประสิทธิ์วิเศษ
กลุ่มงานศัลยกรรม โรงพยาบาลพุทธชินราช พิษณุโลก จังหวัดพิษณุโลก 65000
บทคัดย่อ
มะเร็งเต้านมในผู้หญิงมีอัตราการเกิดรายใหม่มากกว่ามะเร็งปอดซึ่งถือว่าเป็นอันดับหนึ่งของมะเร็งทั้งโลกทั้งแยกตามเพศและอายุ โดยยังเป็นมะเร็งที่ได้รับการวินิจฉัยมากที่สุด เช่นเดียวกับในประเทศไทย การศึกษานี้เปรียบเทียบผลการตัดชิ้นเนื้อส่งตรวจด้วยการใช้อัลตราซาวน์กับการคลำก้อนที่เต้านมในผู้ป่วยที่คลำพบก้อนที่เต้านมจริงซึ่งยืนยันผลจากทำอัลตราซาวน์และหรือแมมโมแกรมเป็น BIRADS* 3-5 ศึกษาในผู้ป่วยหญิงซึ่งคัดเลือกโดยการสุ่มจำนวน 40 คน ระหว่างวันที่ 1 เมษายน พ.ศ. 2565 ถึง 1 เมษายน พ.ศ. 2566 แบ่งเป็น 2 กลุ่ม กลุ่มละ 20 คน คือ ผู้ป่วยที่ได้รับการตัดชิ้นเนื้อด้วยเข็มโดยการคลำก้อนที่เต้านมและผู้ป่วยที่ได้รับการตัดชิ้นเนื้อด้วยเข็มโดยการใช้อัลตราซาวน์ ผลการศึกษาโดยยึดผลจากการตัดชิ้นเนื้อตรงกันพบว่าความแม่นยำในกลุ่มที่ได้รับการตัดชิ้นเนื้อด้วยเข็มโดยการใช้อัลตราซาวน์และโดยการคลำก้อนที่เต้านมเท่ากับร้อยละ 95 และร้อยละ 85 ตามลำดับ ผลค่าทำนายผลบวก (PPV) เป็น 100%, 100% และค่าทำนายผลลบ (NPV) เป็น 85.7%, 100%, ส่วนผลลบลวง (FN) เป็น 7.1% และ 0% ตามลำดับ ซึ่งการตัดชิ้นเนื้อด้วยเข็มที่เต้านมไม่มีภาวะแทรกซ้อนในทั้งสองกลุ่ม โดยสรุปทั้งสองวิธีสามารถทำได้โดยศัลยแพทย์และแพทย์ประจำบ้านสาขาศัลยศาสตร์ทั่วไปได้ผลที่ตรง ปลอดภัย รวดเร็ว ง่าย มีประสิทธิภาพ สามารถทำได้ข้างเตียง ค่าใช้จ่ายน้อย โดยในกลุ่มที่ได้รับการตัดชิ้นเนื้อด้วยเข็มโดยการใช้อัลตราซาวน์มีความแม่นยำมากกว่ากลุ่มที่ได้รับการตัดชิ้นเนื้อด้วยเข็มโดยการคลำก้อนที่เต้านมอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ
 
ที่มา
พุทธชินราชเวชสาร ปี 2567, January-April ปีที่: 41 ฉบับที่ 1 หน้า 65-73
คำสำคัญ
ultrasound-guided, breast mass/breast cancer, tissue biopsy, core needle biopsy, ก้อนที่เต้านมหรือมะเร็งเต้านม, การส่งตรวจชิ้นเนื้อ, การตัดชิ้นเนื้อด้วยเข็ม, การใช้อัลตราซาวน์