ประสิทธิภาพของการรักษาโรคเล็บสะเก็ดเงินด้วยคาร์บอนไดออกไซด์เลเซอร์ชนิดแฟรกชั่นนัลร่วมกับยาทาสเตียรอยด์ เทียบกับการใช้ยาทาสเตียรอยด์เพียงอย่างเดียว: การศึกษาแบบสุ่มและติดตามผล
ภัทร์พิชชา เจดีย์*, พัชรสินี ประสันนาการ, นำพร อินสิน, ศิริวรรณ ทัศนเอี่ยม, สุจิตรา ยอดยศกลุ่มงานอายุรกรรม สาขาตจวิทยา โรงพยาบาลศูนย์สกลนคร 1041 ถ.เจริญเมือง ต.ธาตุเชิงชุม อ.เมือง จ.สกุลนคร
บทคัดย่อ
ปัจจุบันการรักษาโรคเล็บสะเก็ดเงินเป็นที่ทราบกันดีว่า เป็นโรคที่ยากต่อการรักษาและยากต่อการคาดคะเนผลการรักษาสำหรับผู้เป็นแพทย์ การตอบสนองต่อการรักษาไม่ค่อยได้ผลดีและมีการกลับเป็นซ้ำสูง เนื่องจากทายาที่ใช้ในการรักษาไม่สามารถซึมผ่านตัวเล็บสะเก็ดเงินที่หนาได้ การใช้คาร์บอนไดออกไซด์เลเซอร์ชนิดแฟรกชั่นนัล (FCO2 laser) สามารถทำให้เล็บเป็นรูขนาดเล็กจึงทำให้ยาทาสามารถซึมผ่านเล็บได้มากขึ้น ซึ่งจากการค้นคว้าพบว่า ยังไม่มีการศึกษางานวิจัยเกี่ยวกับการรักษาโรคเล็บสะเก็ดเงินด้วย FCO2 laser ในประเทศไทยมาก่อน โดยงานวิจัยนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อประเมินประสิทธิภาพ, เปรียบเทียบผลการรักษา, ตลอดจนความพึงพอใจและผลข้างเคียงของการรักษา ระหว่างการรักษาด้วย FCO2 laser ร่วมกับทายาทาสเตียรอยด์ และการรักษาด้วยการใช้ทายาสเตียรอยด์เพียงอย่างเดียว งานวิจัยนี้เป็นการศึกษาแบบสุ่มและติดตามผล ดำเนินการศึกษาวิจัยที่โรงพยาบาลศูนย์สกลนคร ระหว่างเดือนธันวาคม 2566 ถึง พฤษภาคม 2567 โดยรวบรวมอาสาสมัคร 24 ราย ที่เป็นผู้ป่วยโรคเล็บสะเก็ดเงินที่นิ้วมือทั้ง 2 ข้าง โดยเล็บมือแต่ละข้างจะได้รับการสุ่มให้ได้รับการรักษาด้วยวิธี FCO2 laser ทุก 2 สัปดาห์ จำนวน 6 ครั้ง ร่วมกับการทายาสเตียรอยด์ (0.25% Desoximetasone lotion) ที่เล็บวันละ 2 ครั้งทุกวัน จนครบ 22 สัปดาห์ และเล็บมืออีกข้างของอาสาสมัครจะได้รับการรักษาโดยการทายาสเตียรอยด์ที่เล็บวันละ 2 ครั้ง ทุกวันเพียงอย่างเดียว จนครบ 22 สัปดาห์ โดยการติดตามประเมินผลจะใช้ดัชนีประเมินความรุนแรงของเล็บสะเก็ดเงิน (Nail Psoriasis Severe Index: NAPSI) ประเมินที่ 22 สัปดาห์เปรียบเทียบกับก่อนได้รับการรักษา
ผลการวิจัย จากอาสาสมัครทั้งหมด 24 ราย เป็นเพศชายร้อยละ 75.0 อายุเฉลี่ย 53.5 ปี อาสาสมัครทายาสเตียรอยด์สม่ำเสมอทุกวันร้อยละ 100.0 และพบว่าเล็บสะเก็ดเงินที่ได้รับการรักษาด้วย FCO2 laser ร่วมกับการทายาสเตียรอยด์ มีค่าเฉลี่ยของ nail matrix, nail bed, total NAPSI ที่ 22 สัปดาห์ ดีขึ้นอย่างมากและมีนัยสำคัญทางสถิติ (p-value<0.001 ทุกรายการ) เมื่อเทียบกับก่อนได้รับการรักษา ในขณะที่เล็บสะเก็ดเงินที่รักษาโดยทายาสเตียรอยด์เพียงอย่างเดียวพบว่าที่ 22 สัปดาห์ มีเพียงแค่ค่าเฉลี่ย nail matrix NAPSI ที่ดีขึ้นอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ (p-value=0.036) เมื่อเทียบกับก่อนได้รับการรักษา และเมื่อทำการเปรียบเทียบหลังการรักษาที่ 22 สัปดาห์ระหว่างทั้ง 2 กลุ่มพบว่า กลุ่มที่ได้รับการรักษาด้วย FCO2 laser ร่วมกับการทายาสเตียรอยด์ มีค่าเฉลี่ยของ nail matrix, nail bed, total NAPSI ที่ดีขึ้นอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติเมื่อเทียบกลุ่มรักษาโดยทายาสเตียรอยด์เพียงอย่างเดียว (p-value=0.03, p-value=0.03 และ p-value=0.02 ตามลำดับ) ผลข้างเคียงที่พบในงานวิจัยนี้คือความเจ็บปวดขณะทำ FCO2 laser โดยพบว่าอาสาสมัครร้อยละ 20.8 มีอาการเจ็บเล็กน้อยแต่สามารถทนได้ขณะทำหัตถการ FCO2 laser
สรุปผลการวิจัย งานวิจัยนี้เป็นงานวิจัยแรกในประเทศไทย ที่ศึกษาถึงการใช้ FCO2 laser ในการรักษาโรคเล็บสะเก็ดเงิน และพบว่าการใช้ FCO2 laser ในการช่วยนำพายาทาสเตียรอยด์ในโรคเล็บสะเก็ดเงินนั้นได้ผลดีและผู้ป่วยสามารถทนต่อการรักษาได้ดี อีกทั้งผู้ป่วยสามารถเข้าถึงการรักษาด้วยเครื่อง FCO2 laser ได้ง่าย เนื่องจากเป็นเครื่องเลเซอร์ที่สามารถพบได้ตามโรงพยาบาลหรือคลินิกต่างๆ จึงเป็นอีกหนึ่งทางเลือกที่ดีที่ใช้ในการรักษาโรคเล็บสะเก็ดเงินให้แก่ผู้ป่วยกลุ่มนี้
ที่มา
วารสารการแพทย์โรงพยาบาลอุดรธานี ปี 2567, May-August
ปีที่: 32 ฉบับที่ 2 หน้า 277-289
คำสำคัญ
ยาทาสเตียรอยด์, Fractional carbon dioxide laser, Topical corticosteroid, Nail psoriasis, คาร์บอนไดออกไซด์เลเซอร์ชนิดแฟรกชั่นนัล, โรคเล็บสะเก็ดเงิน