การใช้ยาไมโซพรอสตอลสอดทางช่องคลอดเพื่อเตรียมปากมดลูกก่อนการคลอด
พัลลภ พงษ์สุทธิรักษ์
Obstetric and Gynecology Department, Buddhachinaraj Phitsanulok hospital, Phitsanulok, Thailand
บทคัดย่อ
                เป็นการศึกษาผลของการเตรียมปากมดลูกให้พร้อมก่อนการชักนำให้เกิดการคลอดในสตรีตั้งครรภ์ครบกำหนดที่มีสภาพปากมดลูกไม่เหมาะสม ในโรงพยาบาลพุทธชินราชระหว่างเดือนเมษายน ถึงเดือนสิงหาคม พ.ศ.2544 โดยศึกษาแบบสุ่มตัวอย่างปกปิดการรักษาทั้งสองฝ่าย (double-blind randomized) ในผู้คลอด 80 คน อายุครรภ์ตั้งแต่ 37 สัปดาห์ขึ้นไปที่มีข้อบ่งชี้ทางอายุรศาสตร์และสูติศาสตร์ที่จะต้องชักนำให้คลอด โดยสอดยาไมโซพรอสตอล และยาหลอกทางช่องคลอด หลังจากนั้น 12 ชั่วโมงจะตรวจภายในเพื่อประเมินสภาวะของปากมดลูก ถ้าการหดรัดตัวของมดลูกไม่ดี หรือปากมดลูกไม่มีการเปลี่ยนแปลงก็จะให้ยาออกซิโทซินเพื่อกระตุ้นการคลอด บันทึกระยะเวลาตั้งแต่สอดยาจนกระทั่งคลอด ความจำเป็นที่จะต้องใช้ยาออกซิโทซินและผลของการรักษา ผลการศึกษาพบว่ายาไมโซพรอสตอลมีผลทำให้ปากมดลูกเปลี่ยนแปลงเหมาะสมต่อการคลอดได้มากกว่ายาหลอก การเปลี่ยนแปลงของคะแนนบิชอพในกลุ่มไมโซพรอสตอลเท่ากับ 6.5 ± 3.3 เปรียบเทียบกับ 1.1 ± 1.4 ในกลุ่มยาหลอก ซึ่งมีนัยสำคัญทางสถิติ (p < 0.000) ระยะเวลาเฉลี่ยหลังการสอดยาจนกระทั่งคลอดในกลุ่มยาไมโซพรอสตอลและกลุ่มยาหลอกเท่ากับ  20.8 ± 13.9 และ 37.3 ± 1.4 ชั่วโมงตามลำดับ ซึ่งมีนัยสำคัญทางสถิติ (p < 0.000) ความจำเป็นที่ต้องใช้ยาออกซิโทซินในกลุ่มยาไมโซพรอสตอลน้อยกว่ากลุ่มยาหลอก (ร้อยละ 5 กับร้อยละ 82.5 ซึ่งมีนัยสำคัญทางสถิติ, p < 0.000) ไม่มีความแตกต่างในผลการคลอดและภาวะแทรกซ้อนในทั้งสองกลุ่ม สรุปได้ว่า การใช้ยาไมโซพรอสตอลสอดทางช่องคลอดเพื่อเตรียมปากมดลูกให้พร้อมก่อนการชักนำให้เกิดการคลอดในผู้คลอดครบกำหนด เป็นวิธีที่มีประสิทธิผล ปลอดภัย และราคาถูก 
ที่มา
วารสารวิชาการสาธารณสุข ปี 2546, September-October ปีที่: 12 ฉบับที่ 5 หน้า 752-758
คำสำคัญ
Misoprostol, Cervical ripening, Bishop score, การเตรียมปากมดลูกให้พร้อมก่อนคลอด, คะแนนบิชอพ, ไมโซพรอสตอล