การใช้ยาแอมพิศิลลิน และเศฟะโซลิน แบบป้องกันในการผ่าตัดมดลูกทางช่องคลอด
พัลลภ พงษ์สุทธิรักษ์
Obstetric and Gynecology Department, Buddhachinaraj Phitsanulok hospital, Phitsanulok, Thailand
บทคัดย่อ
                การศึกษานี้เป็นแบบติดตามไปข้างหน้าในผู้ป่วย 113 คนที่มีข้อบ่งชี้ให้ได้รับการผ่าตัดมดลูกทางช่องคลอดระหว่างเดือนมิถุนายน พ.ศ. 2544 ถึงเดือนมิถุนายน พ.ศ. 2545 โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อเปรียบเทียบประสิทธิผลของยาแอมพิศิลลินและยาเศฟะโซลินในการป้องกันภาวะไข้หลังการผ่าตัดมดลูกทางช่องคลอด สุ่มตัวอย่างโดยไม่ปกปิด แบ่งเป็นกลุ่มที่ได้รับยาแอมพิศิลลิน และกลุ่มที่ได้รับเศฟะโซลิน ซึ่งทั้งสองกลุ่มไม่มีความแตกต่างอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติในปัจจัยพื้นฐาน พบการเกิดไข้หลังผ่าตัดในกลุ่มที่ได้รับยาแอมพิศิลลิน ร้อยละ 49.1 กลุ่มเศฟะโซลินร้อยละ 39.3 ซึ่งไม่แตกต่างกันอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ (p=0.388) การติดเชื้อหลังผ่าตัดพบร้อยละ 21.1 และ 19.6 ในกลุ่มแอมพิศิลลินและเศฟะโซลินตามลำดับ (p=0.85) ระยะเวลาเฉลี่ยที่ใช้พักรักษาตัวในโรงพยาบาลก็ไม่แตกต่างกันทั้งสองกลุ่ม แม้ว่าผลความแตกต่างของการเกิดไข้หลังผ่าตัดจะไม่แตกต่างอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติแต่ก็มีความแตกต่างกันถึงร้อยละ 9.8 ซึ่งมีความสำคัญทางคลินิก าจึงใช้วิธีวิเคราะห์ถดถอยพหุแบบตรรกวิทยา (multiple logistic regression) เพื่อควบคุมปัจจัยที่อาจจะมีผลรบกวนอื่นๆ พบว่ายาเศฟะโซลินมีผลป้องกันการเกิดไข้หลังผ่าตัดได้ดีกว่าแอมพิศิลลินโดยมีความเสี่ยง (relative risk) เท่ากับ 0.28 (95% CI =0.11-0.74, p = 0.01) สรุปได้ว่ายาเศฟะโซลินซึ่งฉีดครั้งเดียวใช้สะดวกและมีผลในการป้องกันการเกิดไข้หลังผ่าตัดมดลูกทางช่องคลอดได้ดีกว่าแอมพิศิลลิน 
ที่มา
วารสารวิชาการสาธารณสุข ปี 2546, September-October ปีที่: 12 ฉบับที่ 5 หน้า 788-795
คำสำคัญ
Ampicillin, Cefazolin, Febrile morbidity, Prophylactic antibiotic, Vaginal hysterectomy, การผ่าตัดมดลูกทางช่องคลอด, การใช้ยาปฏิชีวนะแบบป้องกัน, ภาวะไข้หลังการผ่าตัด, ยาเศฟะโซลิน, ยาแอมพิศิลลิน