ต้นทุนอรรถประโยชน์ของการผ่าตัดด้วยกล้องเปรียบเทียบกับการผ่าตัดแบบเปิดในการรักษานิ่วในถุงน้ำดี ข้อมูลสำหรับระบบประกันสุขภาพในประเทศไทย
ยศ ตีระวัฒนานนท์*, วิโรจน์ ตั้งเจริญเสถียร, สัญญา ศรีรัตนะ, ทวี รัตนชูเอก, ทวีสิน ตันประยูร, ชัยเวช ธนไพศาล, ธำรง ตรรกวาทการ
International Health Policy Program, Ministry of Public Health
บทคัดย่อ
                ปัจจุบันสัดส่วนการผ่าตัดนิ่วในถุงน้ำดีด้วยกล้องในประเทศไทยมีน้อยมากเมื่อเทียบกับต่างประเทศ ทั้งนี้เนื่องจากขาดแรงจูงใจในการให้บริการ จึงศึกษาเพื่อหาต้นทุนอรรถประโยชน์ของการผ่าตัดนิ่วในถุงน้ำดีด้วยกล้องเปรียบเทียบกับการผ่าตัดแบบเปิดทางหน้าท้อง โดยใช้แบบจำลองที่สร้างขึ้นเพื่อคำนวณต้นทุนและอรรถประโยชน์ของการผ่าตัดทั้งสอง บนพื้นฐานข้อมูลต้นทุนจากเวชระเบียนและผู้ป่วยที่เข้ารับการผ่าตัดที่โรงพยาบาลเชียงรายประชานุเคราะห์ ระหว่างวันที่ 1 กันยายน ถึง 15 พฤศจิกายน พ.ศ.2547 คัดเลือกเฉพาะผู้ป่วยที่เจาะจงเข้ารับการผ่าตัดนิ่วในถุงน้ำดีและปราศจากโรคแทรกซ้อน เช่น ติดเชื้อในกระแสเลือด ถุงน้ำดีแตก สัมภาษณ์ผู้ป่วยหลังผ่าตัด ในช่วงวันที่ 9 พฤศจิกายน ถึง 15 ธันวาคม 2547 ส่วนประสิทธิผลและอรรถประโยชน์ของการรักษาได้จากการทบทวนเอกสารทั้งในและต่างประเทศอย่างเป็นระบบ  พบว่าหากรัฐบาลเปลี่ยนจากการสนับสนุนการผ่าตัดแบบเปิดเป็นการผ่าตัดด้วยกล้อง ต้นทุนอรรถประโยชน์ของการผ่าตัดนิ่วในถุงน้ำดีคิดเป็น 144,692 บาทต่อปี ที่มีคุณภาพชีวิตที่สมบูรณ์ (QALY) ในมุมมองของรัฐ หรือ 86,464 บาทต่อปีที่มีคุณภาพชีวิตที่สมบูรณ์ในมุมมองของสังคมโดยรวม หากพิจารณาถึงความคลาดเคลื่อนของตัวแปรต่างๆ ในแบบจำลองจะพบว่าที่โอกาสตัดสินใจผิดพลาดน้อยกว่าร้อยละ 5 ราคาที่รัฐต้องลงทุนต่อหนึ่งปีที่มีคุณภาพชีวิตที่สมบูรณ์ควรเป็น 190,000 บาท จึงสนับสนุนให้ทำการผ่าตัดนิ่งในถุงน้ำดีด้วยกล้อง  สรุปได้ว่าหากพิจารณาคำแนะนำของนักวิชาการในรายงานการพัฒนาสำหรับสหัสวรรษใหม่ที่ระบุว่าการลงทุนด้านสุขภาพในประเทศกำลังพัฒนาที่มีต้นทุนต่ำกว่า 3 เท่าของรายได้ประชาชาติ การผ่าตัดนิ่วในถุงน้ำดีด้วยกล้องถือเป็นการลงทุนที่คุ้มค่า
ที่มา
วารสารวิชาการสาธารณสุข ปี 2548, May-June ปีที่: 14 ฉบับที่ 3 หน้า 464-474
คำสำคัญ
Cost-utilily, Gallbladder-stone disease, Laparoscopic cholecystectomy, Open cholecystectomy, Public reimbursement, ต้นทุนอรรถประโยชน์, นิ่วในถุงน้ำดี, ผ่าตัดด้วยกล้อง, ผ่าตัดแบบเปิด, ระบบประกันสุขภาพ