การวิเคราะห์ต้นทุนผลได้เพื่อรวมสิทธิประโยชน์การใช้ยาต้านเชื้อวัสเอชไอวีในระบบประกันสุขภาพถ้วนหน้า
วสันต์ ภิญโญวิวัฒน์, วิทยา กุลสมบูรณ์*, สถิตพงศ์ ธนวิริยะกุลSocial Pharmacy Department, Faculty of Pharmaceutical Sciences, Chulalongkorn University
บทคัดย่อ
การศึกษาเรื่องการวิเคราะห์ต้นทุนผลได้ในการรวมสิทธิประโยชน์การให้ยาต้านไวรัสเอชไอวีในระบบประกันสุขภาพถ้วนหน้า มีวัตถุประสงค์เพื่อให้ได้ข้อมูลต้นทุนและผลได้ของการรักษาเอดส์ด้วยการใช้ยาต้านไวรัสและประเมินความเป็นไปได้ในการดำเนินการดังกล่าว โดยศึกษาจากข้อมูลผู้ป่วยโรงพยาบาลบำราศนราดูรด้วยแบบจำลองด้านต้นทุนและผลได้ที่กำหนดขึ้นแล้วนำมาประมาณภาระค่าใช้จ่ายสำหรับการให้ยาต้านไวรัสเอชไอวีในแต่ละปี และจากการสัมภาษณ์เจาะลึกผู้ปฏิบัติงานในพื้นที่ ผลการศึกษาพบว่า กลุ่มผู้ป่วยเอดส์ที่ได้รับยาและไม่ใช้ยาต้านไวรัสเอชไอวีของโรงพยาบาลบำราศนราดูรมีต้นทุนในการรักษารวมต่อปีต่อคนเท่ากับ 87,168 และ 11,115 บาทตามลำดับ (ราคา ณ ปี 2545) การใช้ยาต้านไวรัสเอชไอวี สามารถลดค่าใช้จ่ายในการรักษาพยาบาลที่เกิดจากโรคติดเชื้อฉวยโอกาสได้ 9,143.04 บาท/คน/ปี ในการศึกษานี้ได้ประมาณการอัตราส่วนผลได้/ต้นทุนที่เพิ่มขึ้นจากการรักษาด้วยยาต้านไวรัสเทียบกับการไม่ใช้ยาต้านไวรัสในกรณีที่ใช่ยา GPO-vir พบว่ามีอัตราส่วนผลได้ต่อต้นทุนส่วนเพิ่มอยู่ในระหว่าง 2.68 – 2.94 ผลการศึกษาแสดงให้เห็นถึงภาระค่าใช้จ่ายในการให้ผู้ป่วยได้รับยาต้านไวรัสเอชไอวีครอบคลุมถ้วนหน้า จะมีค่าใช้จ่ายในระยะยาวระหว่าง 4,000 ถึง 11,000 ล้านบาทต่อปี โดยเมื่อคิดเป็นภาระค่าใช้จ่ายส่วนเพิ่มที่หักค่าใช้จ่ายที่เกิดขึ้นอยู่แล้วจากกรณีที่ไม่ใช้ยา จะมีค่าใช้จ่ายส่วนเพิ่มระหว่าง 1,400 ถึง 8,500 ล้านบาทต่อปี เฉพาะใน 5 ปีแรกสำหรับแนวทางที่ครอบคลุมสิทธิประโยชน์นี้ถ้วนหน้าภายใน 5 ปี ทั้งนี้ขึ้นกับแนวทางการดำเนินงานว่าจะเป็นแบบใด และขึ้นอยู่กับตัวแปรที่สำคัญคือ (1) ประสิทธิภาพของยาสูตร GPO-vir ขององค์การเภสัชกรรม ในเรื่องของการแพ้ยาและดื้อยา (2) ต้นทุนราคายาในสูตรอื่นๆ ที่ยังมีสิทธิบัตรอยู่ว่าสามารถลดราคาลงได้มากน้อยเพียงใด (3) จำนวนผู้ป่วยเอดส์รายใหม่จะควบคุมได้มากน้อยเพียงใด แต่อย่างไรก็ตามไม่ว่าจะเป็นทางเลือกใด จะต้องมีข้อกำหนดมาตรฐานการให้บริการที่จะต้องมีความพร้อมในด้านต่างๆ ดังนี้คือ (1) มีระบบการให้คำปรึกษาตามมาตรฐานที่กำหนด ที่สามารถให้ผู้ป่วยตัดสินใจได้ด้วยตนเอง (2) มีเครือข่ายผู้ติดเชื้อร่วมในกระบวนการให้คำปรึกษาและติดตามผู้ป่วย และ (3) มีการเตรียมความพร้อมเจ้าหน้าที่สาธารณสุขในทุกระดับ การให้หลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าควนให้ความครอบคลุมในทุกโรค ตามกำลังความสามารถของประเทศซึ่งสามารถทำได้หามีการจัดการที่ดี เพราะสุขภาพของประชาชนเกี่ยวข้องทั้งในเรื่องของมนุษยธรรม และความมั่นคงของประเทศ
ที่มา
วารสารวิชาการสาธารณสุข ปี 2547, November-December
ปีที่: 13 ฉบับที่ 6 หน้า 1022-1033
คำสำคัญ
AIDS, เอดส์, Cost-benefit analysis GPO-vir, Triple antiretroviral, Universal health care coverage, การวิเคราะห์ต้นทุนและผลได้, ยาต้านไวรัสเอชไอวี, หลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า