ผลลัพธ์ทางคลินิกและคุณภาพชีวิตของกลุ่มผุ้ป่วยโรคเบาหวานชนิดที่ 2 ในระบบจ่ายยาทุก 30 วัน และระบบจ่ายยาทุก 90 วัน
ชบาไพร โพธิ์สุยะ, รัตนาภรณ์ อาวิพันธ์, อัญชลี เพิ่มสุวรรณ, เทพรักษ์ ชำนาญกิจ*กลุ่มงานเภสัชกรรมโรงพยาบาลทับคล้อ จังหวัดพิจิตร
บทคัดย่อ
วัตถุประสงค์ของการศึกษานี้เพื่อเปรียบเทียบผลลัพธ์เชิงคลินิกและคุณภาพชีวิต และศึกษาปัญหาจากการใช้ยาของผู้ป่วยโรคเบาหวานที่ได้รับการบริบาลทางเภสัชกรรมในระบบจ่ายยาทุก 30 วันและระบบจ่ายยาทุก 90 วันของศูนย์สุขภาพชุมชน 1 โรงพยาบาลทับคล้อ จังหวัดพิจิตร ใช้รูปแบบ pretest-posttest control group design โดยจับคู่ผู้ป่วยผ่านความรุนแรงของโรคและโรคแทรกซ้อน สุ่มแยกผู้ป่วยเป็น 2 กลุ่ม คือ ระบบจ่ายยาทุก 30 วันพร้อมเยี่ยมบ้านทุกเดือน และระบบจ่ายยาทุก 90 วันพร้อมเยี่ยมบ้านทุกเดือน ติดตามผู้ป่วย 6 เดือนตั้งแต่ เดือน มกราคม พ.ศ. 2546 ถึง มิถุนายน พ.ศ. 2546 เปรียบเทียบระดับน้ำตาลในเลือดหลังอดอาหาร ระดับ HbA1c และคุณภาพชีวิตในการวัดทั้งหมด 3 ครั้ง คือ เริ่มต้น เดือนที่ 3 และสิ้นสุดการบริบาลทางเภสัชกรรม และตรวจสอบปัญหาจากการใช้ยา วิเคราะห์ข้อมูลโดยใช้ chi-square test, independent t-test, และ repreated measured ANOVA. ผลการศึกษา พบว่า ระดับน้ำตาลในเลือดเฉลี่ยภายในกลุ่มของการวัดทั้ง 3 ครั้งในกลุ่มผู้ป่วยระบบจ่ายยาทุก 30 วัน และระบบจ่ายยาทุก 90 วัน มีการเปลี่ยนแปลงอย่างไม่มีนัยสำคัญทางสถิติ (p=0.17 และ p=0.45 ตามลำดับ) แต่เมื่อเปรียบเทียบระหว่างกลุ่ม พบว่า ระดับน้ำตาลในเลือดเฉลี่ยของผู้ป่วยกลุ่มระบบจ่ายยาทุก 90 วันมีค่าต่ำกว่ากลุ่มระบบจ่ายยาทุก 30 วันในการวัดทั้ง 3 ครั้ง ซึ่งแตกต่างอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ เมื่อวัดเดือนที่ 3 (p=0.04) ระดับ HbA1c ให้ผลสอดคล้องกับระดับน้ำตาลในเลือด คือ ไม่พบความแตกต่างอย่างมีนัยสำคัญภายในกลุ่มเมื่อทำการวัด 3 ครั้ง แต่ผู้ป่วยกลุ่มระบบจ่ายยาทุก 90 วันมีระดับ HbA1c ต่ำกว่ากลุ่มระบบจ่ายยาทุก 30 วัน คะแนนคุณภาพชีวิตเฉลี่ยของผู้ป่วยกลุ่มระบบจ่ายยาทุก 90 วัน มีค่าเพิ่มขึ้นมากกว่ากลุ่มระบบจ่ายยาทุก 30 วันในทุกมิติ ยกเว้นมิติ social functioning ผลจากการบริบาลทางเภสัชกรรมของผู้ป่วย ทั้งที่ศูนย์สุขภาพชุมชนและที่บ้านผู้ป่วย พบปัญหาจากการใช้ยาที่สามารถป้องกันได้ หรือ แก้ไขได้ทั้งหมด 45 ปัญหา พบในกลุ่มระบบจ่ายยาทุก 30 วันมากกว่าระบบจ่ายยาทุก 90 วัน(24 และ 21 ปัญหาตามลำดับ) ผู้ป่วยโรคเบาหวานที่ได้รับยาทุก 90 วันพร้อมออกเยี่ยมบ้านทุกเดือน แสดงผลลัพธ์ทางคลินิกไม่แตกต่างจากผู้ป่วยเบาหวานได้รับยาทุก 30 วัน พร้อมออกเยี่ยมบ้านทุกเดือน แต่ให้ผลเด่นชัดในด้านคุณภาพชีวิตที่ดีกว่าโดยเฉพาะในด้านจิตใจ
ที่มา
วารสารเภสัชกรรมโรงพยาบาล ปี 2549, September-December
ปีที่: 16 ฉบับที่ 3 หน้า 221-232
คำสำคัญ
Quality of life, Diabetes, คุณภาพชีวิต, โรคเบาหวาน, Blood Sugar, Clinical Outcome, Drug Dispensing System, ผลลัพธ์ทางคลินิก, ระดับน้ำตาลในเลือด, ระบบจ่ายยา