การศึกษาผลของการใช้ยา fentanyl ขนาดต่ำ เพื่อลดการตอบสนองของระบบไหลเวียนเลือด เมื่อต้องใส่ท่อช่วยหายใจ ในโรงพยาบาลสกลนคร
พรรณวดี พิริยสัตยาDepartment of Anesthesiology, Sakon Nakhon Hospital
บทคัดย่อ
บทนำ: การใส่ท่อช่วยหายใจโดยวิธี laryngoscopy ในผู้ป่วยที่จำเป็นต้องรับการผ่าตัดโดยวิธีดมยาสลบ หรือผู้ป่วยวิกฤตที่ต้องใส่ท่อช่วยหายใจเพื่อช่วยชีวิต อาจเกิดภาวะแทรกซ้อนจากการเปลี่ยนแปลงของระบบต่างๆ ของร่างกาย โดยเฉพาะอย่างยิ่งระบบไหลเวียนเลือด แต่อาจลดภาวะแทรกซ้อนดังกล่าวได้เมื่อจำเป็นต้องใส่ท่อช่วยหายใจโดยการเลือกใช้ fentanyl ซึ่งเป็นยาในกลุ่ม narcotics โดยปรับใช้ในขนาดที่ลดลงเพื่อหลีกเลี่ยงผลแทรกซ้อนที่อาจเกิดขึ้น เช่น ภาวะความดันเลือดต่ำ การหดเกร็งของกล้ามเนื้อ หรือการกดการหายในในระยะฟักฟื้นหลังการผ่าตัดวัตถุประสงค์: ต้องการศึกษาว่าการใช้ fentanyl ขนาด 2 มดก./กก จะสามารถลดการเปลี่ยนแปลงของระบบไหลเวียนเลือดเมื่อใส่ท่อช่วยหายใจ โดยไม่พบภาวะตื่นช้าจากยาสลบ และการกดการหายใจในระยะพักฟื้นวัสดุและวิธีการ: กลุ่มผู้ป่วยที่ใช้ในการศึกษาครั้งนี้ คือ กลุ่มผู้ป่วยหญิงอายุ 15-50 ปี ที่มารับการผ่าตัดแบบไม่ฉุกเฉินในโรงพยาบาลสกลนคร โดยได้รับการระงับความรู้สึกแบบทั่วไปร่วมกับการใส่ท่อช่วยหายใจ (general anesthesia with endotrachial intubation) ที่มี ASA I-II และความดันเลือดปกติ ผู้ป่วยจะถูกสุ่มตัวอย่างแบ่งเป็น 2 กลุ่ม กลุ่มควบคุม จำนวน 15 คน เป็นกลุ่มที่ได้รับ normal saline 10 มล. และกลุ่ม fentanyl จำนวน 15 คน เป็นกลุ่มที่ได้รับ fentanyl 2 มคก./กก. เจือจางใน normal saline จนได้ปริมาตร 10 มล. 3 นาที ก่อนได้รับยานำสลบ เปรียบเทียบข้อมูลทั่วไปความดันเลือด (SBP, DBP, MBP) อัตราการเต้นหัวใจ (HR) ค่า rate pressure product (RR) ทันทีที่ผู้ป่วยถึงห้องผ่าตัด (Tb) 1 นาที่หลังได้รับยานำสลบ (Ti) ทันทีที่ใส่ท่อช่วยหายใจ (To) และ 1, 2, 3 นาที หลังใส่ท่อช่วยหายใจ (T1, T2, T3) ทำการเปรียบเทียบภาวะกดการหายใจในผู้ป่วยทั้ง 2 กลุ่ม โดยวัดอัตราการหายใจ (RR) ปริมาณคาร์บอนไดออกไซด์ เมื่อสิ้นสุดลมหายใจออก (ETCO2) ทันที่ที่ผู้ป่วยถึงห้องพักฟื้น (R1) หลังจากอยู่ในห้องพักฟื้น 30 นาที (R30) และ 60 นาที (R60) ผลการศึกษา: ในกลุ่มผู้ป่วยที่ได้รับ fentanyl 2 มดก./กก. พบว่าค่าความดันเลือด (SBI, DBP, MBP) อัตราการเต้นของหัวใจ (HR) และค่า rate pressure product (RPP) ในระยะทันทีที่ใส่ท่อช่วยหายใจ ระยะ 1 และ 2 นาทีหลังใส่ท่อช่วยหายใจมีการเปลี่ยนแปลงเพียงเล็กน้อย ซึ่งถือว่าไม่แตกต่างจากภาวะปกติ ในขณะที่กลุ่มควบคุมพบว่ามีการเพิ่มขึ้นของค่าความดันเลือด (SBP, DBP, MBP) และค่า RPP ทุกช่วงเวลาอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ (P<0.05) ในระยะพักฟื้นพบว่า ทั้งกลุ่มผู้ป่วยที่ได้รับ fentanyl และกลุ่มควบคุม ไม่พบภาวะฟื้นจากยาสลบช้า หรือภาวะกดการหายใจ โดยค่าสถิติไม่พบความแตกต่างของค่า RR และ ETCO2 เมื่อเทียบกับภาวะปกติวิจารณ์และสรุป: การใช้ fentanyl 2 มคก./กก. ก่อนให้ยานำสลบ สามารถลดการตอบสนองของระบบไหลเวียนเลือดเมื่อใส่ท่อช่วยหายใจในผู้ป่วยที่รับการผ่าตัดในโรงพยาบาลสกลนคร โดยระยะเวลาการผ่าตัดไม่เกิน 60 นาที และไม่พบภาวะแทรกซ้อนคือ ภาวะกดการหายใจ หรือฟื้นจากยาสลบช้าในระยะพักฟื้น
ที่มา
วารสารโรงพยาบาลสกลนคร ปี 2551, January-April
ปีที่: 11 ฉบับที่ 1 หน้า 12-13
คำสำคัญ
Low dose of Fentanyl, การใช้ยา Fentanyl ขนาดต่ำ