ผลของการใช้เบาะรองสะโพกสำหรับป้องกันการเกิดแผลกดทับในผู้ป่วยที่จำกัดการเคลื่อนไหว
ทรงชัย วิริยอำไพวงศ์, อารยะ เสนาคุณ, อุลัย จำปาวะดี*, โสรัจญา สุริยันต์Faculty of Nursing, Mahasarakham University, Maha Sarakham, Thailand 44150
บทคัดย่อ
แผลกดทับเป็นปัญหาสำคัญของการดูแลผู้ป่วยที่จำกัดการเคลื่อนไหว ซึ่งมีผลกระทบทั้งต่อตัวผู้ป่วย ครอบครัว และสถานบริการสุขภาพ ทำให้สูญเสียค่าใช้จ่ายในการรักษาพยาบาลเพิ่มขึ้น การเกิดแผลกดทับสามารถป้องกันได้ โดยการลดปัจจัยที่เป็นสาเหตุ การวิจัยกึ่งทดลองครั้งนี้ มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาผลของการใช้เบาะรองสะโพกสำหรับป้องกันการเกิดแผลกดทับในผู้ป่วยที่จำกัดการเคลื่อนไหว กลุ่มตัวอย่างเป็นผู้ป่วยที่มีภาวะจำกัดการเคลื่อนไหว โดยมีคะแนนความเสี่ยงต่อการเกิดแผลกดทับของบราเดนน้อยกว่า 16 คะแนน ที่รับการรักษาเป็นผู้ป่วยใน โรงพยาบาลมหาสารคาม ระหว่างเดือนพฤษภาคม 2547 ถึงเดือนพฤษภาคม 2548 จำนวน 44 คน จับฉลากสุ่มเข้ากลุ่มทดลองและกลุ่มควบคุม กลุ่มละ 22 คน โดยกลุ่มทดลองได้รับการรองด้วยเบาะรองสะโพก ซึ่งผู้วิจัยได้ออกแบบให้กระจายและลดแรงกดทับ โดยทำการประเมินผิวหนังตามปุ่มกระดูกของกลุ่มตัวอย่างทั้ง 2 กลุ่มทุกวัน เป็นเวลา 7 วัน เครื่องมือที่ใช้ในการเก็บรวบรวมข้อมูลประกอบด้วย แบบบันทึกข้อมูลส่วนบุคคล แบบประเมินความเสี่ยงต่อการเกิดแผลกดทับของบราเดน และแบบบันทึกตำแหน่งการเกิดแผลกดทับ ผลการวิจัยพบว่า กลุ่มทดลองที่ได้รับการรองด้วยเบาะรองสะโพก เกิดแผลกดทับที่บริเวณก้นกบและสะโพกน้อยกว่ากลุ่มควบคุมในวันที่ 3 ของการรองเบาะอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ 0.05 และกลุ่มทดลองที่ได้รับการรองด้วยเบาะรองสะโพก เกิดแผลกดทับบริเวณก้นกบและสะโพกน้อยกว่ากลุ่มควบคุม ในวันที่ 4, 5, 6, 7 ของการรองเบาะ อย่างมีนัยสำคัญยิ่งทางสถิติที่ระดับ 0.001 ดังนั้นเบาะรองสะโพกความกว้าง 80 เซนติเมตร ความยาว 60 เซนติเมตร หนา 2.5 นิ้ว ซึ่งออกแบบโดยใช้ฟองน้ำอัดอยู่ด้านล่างหนา 1.5 นิ้ว ด้านบนเป็นฟองน้ำโปร่งหนา 1 นิ้ว ซึ่งด้านบนที่เป็นฟองน้ำโปร่ง ได้ออกแบบโดยตัดเป็นท่อนๆ วางห่างกัน 1 นิ้ว จึงเป็นอุปกรณ์ที่สามารถนำมาใช้เพื่อลดการเกิดแผลกดทับได้
ที่มา
วารสารออนไลน์ มหาวิทยาลัยมหาสารคาม ปี 2549, January-March
ปีที่: 25 ฉบับที่ 1 หน้า 38-45
คำสำคัญ
Cushion, Immobilization, Pressure sore, ภาวะจำกัดการเคลื่อนไหว, เบาะรองสะโพก, แผลกดทับ