การศึกษาเปรียบเทียบผลการรักษาทารกแรกเกิดที่มีอาการตัวเหลืองโดยการให้แสงบำบัดกับการไม่ให้แสงบำบัดในโรงพยาบาลภูมิพลอดุลยเดช พอ.บนอ.
สายสวาท ธีระวุฒิ, สุธารี เนินลพ, นภาพร จิระพงษา
กองกุมารเวชกรรม โรงพยาบาลภูมิพลอดุลยเดช พอ.บนอ.
บทคัดย่อ
                ผู้วิจัยได้ทำการศึกษาเชิงทดลอง เพื่อเปรียบเทียบผลการรักษาภาวะตัวเหลืองในทารกแรกเกิดคลอดครบกำหนดปกติที่เมื่ออายุเท่ากับหรือมากกว่า 48 ชั่วโมง มีค่า microbilirubin ในเลือด ระหว่าง 12 ถึง 15 mg/dl โดยการให้แสงบำบัดกับการไม่ได้รับแสงบำบัด ทารกจำนวน 74 คน ที่เข้ารับการศึกษาถูกแบ่งเป็น 2 กลุ่ม คือ กลุ่มให้แสงบำบัด 39 คน และกลุ่มไม่ให้แสงบำบัด 35 คน                ข้อมูลพื้นฐานของทารกกลุ่มให้แสงบำบัดและกลุ่มไม่ให้แสงบำบัด ไม่มีความแตกต่างอย่างมีนัยสำคัญ ทั้งในแง่เพศ, น้ำหนักแรกเกิด, อายุครรภ์ และอายุเมื่อเริ่มศึกษารวมถึงค่า hematocrit และ microbilirubin ในเลือด เมื่อเริ่มทำการศึกษาโดย P value > 0.05 ทารกทั้ง 2 กลุ่มส่วนใหญ่ไม่พบสาเหตุของตัวเหลือง (ร้อยละ 71.80 ในกลุ่มให้แสงบำบัด และร้อยละ 65.71 ในกลุ่มไม่ให้แสงบำบัด) พบภาวะขาดเอ็นไซม์ G6PD ในกลุ่มให้แสงบำบัดถึงร้อยละ 17.95 และในกลุ่มไม่ให้แสงบำบัดร้อยละ 14.29                จำนวนทารกในกลุ่มที่ให้แสงบำบัด มีการล้มเหลวของการรักษาน้อยกว่ากลุ่มควบคุม อย่างมีนัยสำคัญ (P < 0.05) และค่า microbilirubin ในเลือดเมื่อผ่านไป 24 ชั่วโมง ในกลุ่มให้แสงบำบัด น้อยกว่ากลุ่มไม่ให้แสงบำบัด (P < 0.05) นอกจากนี้ระยะเวลาในการรักษาของกลุ่มให้แสงบำบัดน้อยกว่ากลุ่มไม่ให้แสงบำบัดอีกด้วย ไม่มีทารกรายใดมีอาการและอาการแสดงบ่งว่ามีความผิดปกติทางระบบประสาท หรือภาวะแทรกซ้อนจากการให้แสงบำบัด                กุมารแพทย์ผู้ดูแลทารกแรกเกิดครบกำหนดที่มีอาการตัวเหลือง เมื่ออายุเท่ากับหรือมากกว่า 48 ชั่วโมง ควรให้การรักษาด้วยการให้แสงบำบัด เมื่อมีค่า bilirubin ในเลือดตั้งแต่ 12 mg/dl ขึ้นไป ทันทีที่วินิจฉัยภาวะตัวเหลืองได้
ที่มา
แพทยสารทหารอากาศ ปี 2541, January-March ปีที่: 44 ฉบับที่ 1 หน้า 1-12