คุณภาพชีวิตของผู้ป่วยจิตเภทที่ได้รับการรักษาด้วยยาต้านโรคจิตกลุ่มดั้งเดิมและกลุ่มใหม่
นันทิกา ทวิชาชาติ, ศิริยุพา นันสุนานนท์*, เอม อินทกรณ์
Institute of Health Research, Chulalongkorn University
บทคัดย่อ
                การวิจัยครั้งนี้มีจุดมุ่งหมายเพื่อศึกษาคุณภาพชีวิตของผู้ป่วยจิตเภทที่ได้รับการรักษาด้วยยาต้านโรคจิตกลุ่มดั้งเดิมและกลุ่มใหม่ และปัจจัยที่เกี่ยวข้อง ได้แก่ อายุ เพศ สถานภาพสมรส ระดับการศึกษา อาชีพ รายได้ ระยะเวลาที่ป่วย จำนวนครั้งที่เข้ารักษาในโรงพยาบาล ระดับความรุนแรงของอาการทางจิตและชนิดของยาต้านโรคจิต โดยศึกษาจากกลุ่มตัวอย่างซึ่งเป็นผู้ป่วยจิตเภท จำนวน 350 คน แบ่งออกเป็น 2 กลุ่ม คือ กลุ่มที่ได้รับการรักษาด้วยยาต้านโรคจิตกลุ่มดั้งเดิมที่ออกฤทธิ์ต่อระบบโดปามีน จำนวน 316 คน กลุ่มที่ได้รับการรักษาด้วยยาต้านโรคจิตกลุ่มใหม่ซึ่งออกฤทธิ์ต่อระบบซีโรโทนินและโดปามีน จำนวน 34  คน ได้แก่ กลุ่มยา clozapine จำนวน 18 คน กลุ่มยา risperidone จำนวน 6 คน และกลุ่มยา olanzapine จำนวน 10 คน ผู้ป่วยเหล่านี้มารับการรักษาที่แผนกผู้ป่วยนอก โรงพยาบาลศรีธัญญา เครื่องมือที่ใช้ในการเก็บรวบรวมข้อมูลคือ แบบสอบถามคุณภาพชีวิต (Quality of Life Questionnaire/ QLQ) และแบบประเมินอาการทางจิต (Brief Psychiatric Rating Scale/ BPRS) สถิติที่ใช้คือ ค่าร้อยละ ค่าเฉลี่ยเลขคณิต ส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐาน ค่าสูงสุดและค่าต่ำสุด เปรียบเทียบความแตกต่างโดย F-test, Chi-square test และ Stepwise Multiple linear regression ผลการศึกษาพบว่าระดับคุณภาพชีวิตโดยรวมตามการประเมินตนเองของผู้ป่วยจิตเภทที่ได้รับการรักษาด้วยยาต้านโรคจิต ส่วนใหญ่ประเมินตนเองว่ามีคุณภาพชีวิตอยู่ในระดับปานกลางถึงดี ผู้ป่วยจิตเภทที่ได้รับการรักษาด้วยยาต้านโรคจิตกลุ่มดั้งเดิม มีระดับคุณภาพชีวิตดีคิดเป็นร้อยละ 49.1 กลุ่มยา clozapine มีระดับคุณภาพชีวิตปานกลางคิดเป็นร้อยละ 55.6 กลุ่มยา risperidone มีระดับคุณภาพชีวิตปานกลางคิดเป็นร้อยละ 66.7 และกลุ่มยา olanzapine มีระดับคุณภาพชีวิตดีคิดเป็นร้อยละ 60 โดยไม่มีความแตกต่างกันอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ ปัจจัยที่เกี่ยวข้องกับการพยากรณ์คุณภาพชีวิตโดยรวมของผู้ป่วยจิตเภทที่ได้รับการรักษาด้วยยาต้านโรคจิตอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ .01 และ .05 ได้แก่ ระดับความรุนแรงของอาการทางจิต สภานภาพสมรสคู่  ระดับการศึกษาสูงกว่าชั้นมัธยมศึกษา และเพศ
ที่มา
วารสารวิทยาลัยวิทยาศาสตร์สาธารณสุข จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ปี 2545, March ปีที่: 16 ฉบับที่ 1 หน้า 25-36
คำสำคัญ
Quality of life, Schizophrenia, คุณภาพชีวิต, โรคจิตเภท, Conventional antipsychotics, Novel antipsychotics, ยาต้านโรคจิตกลุ่มดั้งเดิม, ยาต้านโรคจิตกลุ่มใหม่