การเปรียบเทียบผลการยึดติดทางคลินิกของวัสดุเคลือบหลุมร่องฟันระหว่างการใช้กรดฟอสฟอริกกัดผิวฟัน กับสารยึดติดเซล์ฟเอตช์กัดผิวฟัน บนฟันกรามแท้ซี่ที่ 1 ของเด็กอายุ 6-8 ปี
ชุติมาก ไตรรัตน์วรกุล*, ธนิส เหมินทร์, สุวิมล สุเมธิวิทย์Department of Pediatric Dentistry, Faculty of Dentistry, Chulalongkorn University, Henry Dunant Road, Pathumwan, Bangkok 10330. Tel: 02-2188910
บทคัดย่อ
การศึกษาทางคลินิกนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อเปรียบเทียบอัตราการยึดติดของวัสดุเคลือบหลุมร่องฟันระหว่างการใช้กรดฟอสฟอริกกัดผิวฟันกับสารยึดติดเซล์ฟเอตช์กัดผิวฟัน โดยศึกษาบนฟันกรามแท้ซี่ที่หนึ่ง ภายในขากรรไกรเดียวกันของบุคคลเดียวกัน จำนวน 95 คู่ฟันที่มีลักษณะตรงตามเกณฑ์คัดเข้า ในเด็กอายุ 6-8 ปี โดยจัดตัวอย่างเข้ารับการเคลือบหลุมร่องฟันด้วยวัสดุเคลือบหลุมร่องฟันชนิดแข็งตัวด้วยแสง (คอนไซส์, บริษัทสามเอ็มเด็นทอลโปรดักท์ ประเทศสหรัฐอเมริกา) ด้วยการสุ่มแบบบล็อกให้ฟันข้างหนึ่งได้รับการเคลือบหลุมร่องฟันโดยใช้กรดฟอสฟอริกกัดผิวฟัน (กลุ่มควบคุม) ส่วนฟันอีกข้างหนึ่งซึ่งเป็นกลุ่มศึกษาใช้สารยึดติดเซล์ฟเอดช์กัดผิวฟัน (แอดเปอร์ พรอมพ์, บริษัทสามเอ็มเด็นทอลโปรดักท์ ประเทศสหรัฐอเมริกา) เป่าให้แห้ง ก่อนทาวัสดุเคลือบหลุมร่องฟันและฉายแสง ติดตามผลการยึดติดของวัสดุและการผุของฟันที่ระยะเวลา 6 เดือน โดยทันตแพทย์อีกคนที่ถูกปิดบังไม่ให้ทราบว่าตัวอย่างที่ตรวจอยู่ในกลุ่มใด เมื่อสิ้นสุดการศึกษาคงเหลือจำนวนตัวอย่าง 88 คู่ฟัน พบว่าอัตราการยึดติดทั้งซี่ของวัสดุเคลือบหลุมร่องฟันในกลุ่มศึกษาต่ำกว่าในกลุ่มควบคุมอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ ที่ระดับนัยสำคัญร้อยละ 95 (P = .000) และทั้งสองกลุ่มต่างไม่พบการผุของฟันที่ได้รับการเคลือบหลุมร่องฟันเลย สรุปผลการศึกษาได้ว่า วัสดุเคลือบหลุมร่องฟันคอนไซส์ที่ใช้สารยึดติดเซล์ฟเอตช์กัดผิวฟันมีอัตราการยึดติดในหลุมร่องฟันกรามแท้ซี่ที่หนึ่งที่ระยะเวลา 6 เดือนต่ำกว่าเมื่อกัดผิวฟันด้วยกรดฟอสฟอริก
ที่มา
วิทยาสารทันตแพทยศาสตร์ ปี 2548, May-August
ปีที่: 55 ฉบับที่ 3 หน้า 159-167
คำสำคัญ
Retention, Sealant, Self-etch adhesive