ผลการน้ำยาบ้วนปากที่มีซิงก์แลกเทตต่อภาวะการมีกลิ่นปาก
ชลธิชา อมรฉัตร, สุภาณี รัศมีมาสเมือง*, อนงค์พร ศิริกุลเสถียร, อโนมา รักษาสิริ
Department of Oral Medicine, Faculty of Dentistry, Mahidol University, Yothi Street, Rajchatevee, Bangkok 10400. Tel: 02-6448644 ext.3415-7. E-mail: [email protected]
บทคัดย่อ
                วัตถุประสงค์ของการศึกษานี้คือเพื่อประเมินผลของน้ำยาบ้วนปากที่มีซิงก์แลกเทตต่อระดับสารประกอบกำมะถันระเหย ดัชนีคราบจุลินทรีย์และดัชนีสภาพเหงือกโดยศึกษาในอาสาสมัคร 60 คน ที่ได้รับการวินิจฉัยว่าเป็นโรคเหงือกอักเสบและมีระดับสารประกอบกำมะถันระเหยในลมปากไม่ต่ำกว่า 80 ส่วนในพันล้านส่วน แบ่งอาสาสมัครเป็น 2 กลุ่มโดยวิธีสุ่ม ได้แก่ กลุ่มที่ได้รับน้ำยาบ้วนปากที่มีซิงก์แลกเทต (กลุ่มทดลอง) และกลุ่มที่ได้รับน้ำยาหลอก (กลุ่มควบคุม) ในวันเริ่มต้น วัดระดับสารประกอบกำมะถันระเหยในลมปาก ดัชนีคราบจุลินทรีย์และดัชนีสภาพเหงือก แล้วให้อาสาสมัครบ้วนปากด้วยน้ำยาบ้วนปากที่กำหนดให้ วัดระดับสารประกอบกำมะถันระเหยหลังจากบ้วนน้ำยาบ้วนปาก 30 นาทีและ 3 ชั่วโมง แล้วจึงจ่ายน้ำยาบ้วนปากให้อาสาสมัครโดยให้บ้วนทุกวัน วันละ 2 ครั้งหลังแปรงฟัน เป็นเวลา 2 สัปดาห์ บันทึกค่าพารามิเตอร์ต่างๆ อีกครั้งในวันที่ 15 ผลการทดลองพบว่า ระดับสารประกอบกำมะถันระเหย ดัชนีคราบจุลินทรีย์และดัชนีสภาพเหงือกที่เวลาเริ่มต้นไม่มีความแตกต่างกันอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติระหว่างกลุ่ม ที่เวลา 30 นาที ระดับสารประกอบกำมะถันระเหยลดลงร้อยละ 15.6 ในกลุ่มทดลองและร้อยละ 5.08 ในกลุ่มควบคุม ระดับสารประกอบกำมะถันระเหยในกลุ่มทดลองมีความแตกต่างกันนัยสำคัญเมื่อเทียบกับค่าเริ่มต้น (p < .05) แต่ไม่มีความแตกต่างอย่างมีนัยสำคัญเมื่อเทียบกับกลุ่มควบคุม (p > .05) ที่เวลา 3 ชั่วโมงระดับสารประกอบกำมะถันระเหยไม่แตกต่างอย่างมีนัยสำคัญเมื่อเทียบกับค่าเริ่มต้นทั้ง 2 กลุ่ม (p > .05) วันที่ 15 ระดับสารประกอบกำมะถันระเหย ดัชนีคราบจุลินทรีย์และดัชนีสภาพเหงือกลดลงอย่างมีนัยสำคัญเมื่อเทียบกับค่าเริ่มต้นทั้ง 2 กลุ่ม (p < .05) แต่เมื่อเปรียบเทียบระหว่างกลุ่ม ไม่พบความ แตกต่างอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ (p > .05)
ที่มา
วิทยาสารทันตแพทยศาสตร์ ปี 2549, March-April ปีที่: 56 ฉบับที่ 2 หน้า 135-143
คำสำคัญ
Mouthwash, Oral malodour, Volatile sulfur compounds, Zinc lactate