เปรียบเทียบการรักษาอาการคลื่นไส้อาเจียนของหญิงตั้งครรภ์ด้วยวิตามินบีหกขนาดสูงขึ้นกับขนาดปรกติ
กิตติ กรุงไกรเพชรFaculty of Medicine, Burapha University
บทคัดย่อ
รูปแบบการวิจัย : กึ่งทดลองทางคลินิกวัตถุประสงค์: 1. ศึกษาประสิทธิผลของวิตามินบีหก ในการรักษาอาการคลื่นไส้อาเจียนในไตรมาสแรกของการตั้งครรภ์ 2. เปรียบเทียบประสิทธิผลของวิตามินบีหกสองขนาดในการบรรเทาอาการคลื่นไส้อาเจียนในไตรมาสแรกของการตั้งครรภ์ประชากรและกลุ่มตัวอย่าง: หญิงตั้งครรภ์ในไตรมาสแรกที่มีอาการคลื่นไส้อาเจียนซึ่งมารับบริการ ณ คลินิกฝากครรภ์ของโรงพยาบาลมหาวิทยาลัยบูรพา ระหว่างวันที่ 1 มกราคม พ.ศ.2550 ถึง 31 ธันวาคม พ.ศ. 2550 คัดเลือกกลุ่มตัวอย่างที่มีคุณสมบัติตามกำหนด แล้วทำการสุ่มอย่างง่ายเพื่อแบ่งกลุ่ม ได้จำนวนกลุ่มตัวอย่างรวมทั้งสิ้น 100 ราย แบ่งเป็นกลุ่มที่ 1 (75 มิลลิกรัม-บี 6, N = 50 และกลุ่มที่ 2 (100 มิลลิกรัม-บี, N = 50)วิธีการวิจัย: กลุ่มที่ 1 เป็นกลุ่มตัวอย่างที่ได้รับยาวิตามินบีหกรับประทานขนาด 25 มิลลิกรัมหลังอาหารสามมื้อ กลุ่มที่ 2 ได้รับยาวิตามินบีหกโดยให้รับประทานวิตามินบีหกชนิดเม็ดขนาด 50 มิลลิกรัมหลังอาหารสองมื้อ ทั้ง 2 กลุ่ม ได้รับยาต่อเนื่องเป็นเวลา 5 วัน และนัดหมายกลุ่มตัวอย่างอีก 1 สัปดาห์เพื่อติดตามการรักษาและเก็บรวบรวมข้อมูล ข้อมูลทั่วไปเก็บด้วยแบบสอบถามซึ่งบันทึกโดยผู้วิจัย ข้อมูลระดับอาการคลื่นไส้ ให้ผู้ป่วยประเมินเองในช่วงเช้าและเย็นโดยใช้วิชวลอนาลอกสเกล (visual analogue scale) ส่วนจำนวนครั้งของอาการอาเจียนต่อวันให้ผู้ป่วยประเมินเองเช่นกัน การประเมินอาการคลื่นไส้และอาเจียนให้ผู้ป่วยประเมินก่อนและระหว่างการรับประทานยา 5 วันการวิเคราะห์: พรรณนาด้วยสถิติร้อยละ ค่าเฉลี่ย ส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐาน และทดสอบความแตกต่างระหว่างกลุ่มของข้อมูลทั่วไปด้วยไคสแควร์ ทดสอบความแตกต่างอาการคลื่นไส้ในช่วงเช้าและเย็นของกลุ่มตัวอย่างทั้งหมดด้วยการทดสอบค่าที ทดสอบความแตกต่างของอาการคลื่นไส้และอาเจียนระหว่างกลุ่มและเวลาที่รับประทานยาด้วยการวิเคราะห์ความแปรปรวนแบบวัดซ้ำ และเปรียบเทียบความแตกต่างของระดับอาการคลื่นไส้ในช่วงเช้า ช่วงเย็นและจำนวนครั้งของอาการอาเจียน ณ เวลาที่แตกต่างกันด้วยการทดสอบค่าทีผลการวิจัย: 1. ข้อมูลทั่วไปของกลุ่มตัวอย่างทั้งสองไม่มีความแตกต่างกันที่ระดับนัยสำคัญทางสถิติ .05 2. อาการคลื่นไส้ของกลุ่มตัวอย่างทั้งสองก่อนรับยาพบว่าในช่วงเย็นมีมากกว่าช่วงเช้าอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ .05 3. ระดับอาการคลื่นไส้ในช่วงเช้าและเย็นและจำนวนครั้งของอาการอาเจียนระหว่างกลุ่มตัวอย่างทั้งสองกลุ่ม ณ เวลาต่างๆ กัน พบว่าปัจจัยด้านเวลาที่ต่างกันและความแตกต่างของขนาดวิตามินบีหกไม่มีอิทธิพลร่วมกันต่อระดับอาการคลื่นไส้และจำนวนครั้งของอาการอาเจียนที่ระดับนัยสำคัญทางสถิติ แต่เมื่อพิจารณาเฉพาะเวลา (time) ที่ต่างกันมีผลทำให้ระดับอาการคลื่นไส้และจำนวนครั้งของอาการอาเจียนแตกต่างกันอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ และพบว่าระหว่างกลุ่มตัวอย่างที่ได้รับยาต่างกันไม่ทำให้ระดับอาการคลื่นไส้และจำนวนครั้งของอาการอาเจียนแตกต่างกันอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ 4. ความแตกต่างของระดับอาการคลื่นไส้ในช่วงเช้าและกลุ่มตัวอย่างทั้งสองที่จำแนกวัดตามช่วงเวลาต่างๆ พบว่า ระดับอาการคลื่นไส้ของกลุ่มตัวอย่างทั้งสองก่อนเริ่มรับประทานยามีความแตกต่างกับวันที่ 1 2 3 4 และ 5 ของการรับประทานยาอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติและพบว่าวันที่ 1-5 ของการรับยามีระดับอาการคลื่นไส้แตกต่างกันทุกวันยกเว้นวันที่ 1 กับวันที่ 2 วันที่ 2 กับวันที่ 3 และ วันที่ 3 กับวันที่ 4 5. ความแตกต่างของระดับอาการคลื่นไส้ในช่วงเย็นของกลุ่มตัวอย่างทั้งสองที่จำแนกวัดตามช่วงเวลาต่างๆ พบว่า ได้ผลลัพธ์ในทำนองเดียวกันกับในช่วงเช้า โดยระดับอาการคลื่นไส้ในช่วงเย็นก่อนรับยากับหลังรับยามีความแตกต่างกัน ยกเว้นในวันก่อนรับยากับวันที่ 1 ของการรับยาที่ไม่แตกต่างกัน และพบว่าวันที่ 1-5 ของการรับยามีระดับอาการคลื่นไส้ในช่วงเย็นแตกต่างกันทุกวัน ยกเว้น วันที่ 1 กับวันที่ 2 และวันที่ 3 กับวันที่ 4 6. จำนวนครั้งของอาการอาเจียนของกลุ่มตัวอย่างทั้งสองที่จำแนกวัดตามช่วงเวลาต่างๆ พบว่าให้ผลในทำนองเดียวกันกับข้อ 4 และพบว่าจำนวนครั้งของอาการอาเจียนวันที่ 1-5 ของการรักษามีความแตกต่างกันทุกวัน ยกเว้นวันที่ 1 กับวันที่ 2 และวันที่ 3 กับวันที่ 4 ไม่มีความแตกต่างกันที่ระดับสำคัญทางสถิติสรุปผลการวิจัย: วิตามินบีหกขนาด 100 มิลลิกรัมต่อวันในผู้หญิงตั้งครรภ์ที่มีอาการคลื่นไส้อาเจียนสามารถบรรเทาอาการได้ไม่ต่างจากขนาด 75 มิลลิกรัมต่อวัน
ที่มา
ธรรมศาสตร์เวชสาร ปี 2551, July-September
ปีที่: 8 ฉบับที่ 3 หน้า 317-333
คำสำคัญ
Nausea vomiting pregnancy, Pyridoxine, วิตามินบีหก, อาการคลื่นไส้อาเจียนในหญิงตั้งครรภ์