การประเมินประสิทธิภาพยา Metoclopramide ในการช่วยป้องกันและลดอาการคลื่นไส้ อาเจียนหลังผ่าตัดในผู้ป่วยที่ได้รับการผ่าตัด Laparoscopic Cholecystectomy
คมกฤษณ์ เทียมกลางVomiting: Nausea, Anti–emetics, Pharmacology: Metoclopramide, Surgery: Laparoscopic cholecystectomy
บทคัดย่อ
ผู้ป่วยที่มารับการผ่าตัด Laparoscopic Cholecystectomy ถือเป็นกลุ่มเสี่ยงที่มีโอกาสเกิดอาการคลื่นไส้ อาเจียนหลังผ่าตัดได้มาก มีการนำยา metoclopramide มาใช้ในการช่วยป้องกันและลดอาการคลื่นไส้ อาเจียนหลังผ่าตัด แต่ผลยังไม่แน่ชัดวัตถุประสงค์ : เพื่อประเมินประสิทธิภาพของยา Metoclopramide 10 มิลลิกรัม ในการป้องกันและลดอาการคลื่นไส้ อาเจียนหลังผ่าตัดในผู้ป่วยที่ได้รับการผ่าตัด Laparoscopic Cholecystectomy ภายใน 24 ชั่วโมงวิธีการศึกษา: เป็นการศึกษาเชิงพรรณนา โดยรวบรวมข้อมูลแบบไปข้างหน้า โดยเก็บข้อมูลในผู้ป่วยที่เข้ารับการผ่าตัด Elective Laparoscopic Cholecystectomy ในโรงพยาบาลสมเด็จพระยุพราชท่าบ่อ ระหว่างวันที่ 17 กรกฎาคม 2550 ถึงวันที่ 15 สิงหาคม 2550 จำนวน 60 คน แบ่งผู้ป่วยออกเป็น 2 กลุ่ม ผู้ป่วยกลุ่มที่ 1 จำนวน 30 คนเป็นกลุ่มผู้ป่วยที่ได้รับยา Metoclopramide 10 mg iv ก่อนนำสลบ ผู้ป่วยกลุ่มที่ 2 จำนวน 30 คน เป็นกลุ่ม control โดยไม่ได้รับยา Metoclopramide ก่อนนำสลบ แล้วเก็บข้อมูลอาการคลื่นไส้ อาเจียนของผู้ป่วยภายใน 24 ชั่วโมงหลังผ่าตัดผลการศึกษา: ข้อมูลทั่วไปของผู้ป่วยทั้ง 2 กลุ่มมีค่าไม่แตกต่างกันอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ และพบว่าใน 6 ชั่วโมงแรกหลังผ่าตัด จำนวนผู้ป่วยในกลุ่ม Metoclopramide ที่ไม่มีอาการคลื่นไส้อาเจียนหลังผ่าตัดมีจำนวน 21 ราย (70%) ส่วนผู้ป่วยในกลุ่ม Control ที่ไม่มีอาการคลื่นไส้อาเจียนหลังผ่าตัดมีจำนวน 18 ราย (60%) ซึ่งเมื่อเปรียบกันพบว่าทั้งสองกลุ่มมีค่าไม่แตกต่างกันอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ (p value 0.719) ใน 6 ถึง 24 ชั่วโมงหลังผ่าตัด จำนวนผู้ป่วยในกลุ่ม Metoclopramide ที่ไม่มีอาการคลื่นไส้ อาเจียนหลังผ่าตัดจำนวน 29 ราย (96.6%) ส่วนผู้ป่วยในกลุ่ม Control ที่ไม่มีอาการคลื่นไส้ อาเจียนหลังผ่าตัดมีจำนวน 26 ราย (86.6%) ซึ่งเมื่อเปรียบกันพบว่าทั้งสองกลุ่มมีค่าไม่แตกต่างกันอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ (p value 0.206) สรุป: ยา Metoclopramide 10 mg iv ไม่มีประสิทธิภาพในการช่วยป้องกันและลดอาการคลื่นไส้อาเจียนหลังผ่าตัดในผู้ป่วยที่ได้รับการผ่าตัด Laparoscopic Cholecystectomy
ที่มา
ขอนแก่นเวชสาร ปี 2551, January-April
ปีที่: 32 ฉบับที่ 1 หน้า 71-77
คำสำคัญ
Anti–emetics, Pharmacology: Metoclopramide, Surgery: Laparoscopic cholecystectomy, Vomiting: Nausea, การผ่าตัด laparoscopic cholecystectomy, ยา metoclopramide, ยาแก้คลื่นไส้อาเจียน, อาการคลื่นไส้ อาเจียน