คุณภาพชีวิตของผู้ติดเชื้อเอ็ชไอวี/เอดส์ภายใต้ระบบการดูแลอย่างครบถ้วนและต่อเนื่องในภาคใต้ตอนล่าง
กิตติกร นิลมานัต, ณัฐชยา ซ้อนขำ*, ประณีต ส่งวัฒนา
Khao Chaison Hospital, Khao Chaison, Phatthalung, Thailand
บทคัดย่อ
                การศึกษาครั้งนี้เป็นการศึกษาเชิงพรรณนา มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาระดับคุณภาพชีวิตของผู้ติดเชื้อเอ็ชไอวี/เอดส์ ภายใต้ระบบการดูแลอย่างครบถ้วนและต่อเนื่องในภาคใต้ตอนล่าง และศึกษาความสัมพันธ์ระหว่างบริการที่ได้รับ ระดับความรุนแรงและระยะเวลาที่เข้าร่วมโครงการกับคุณภาพชีวิต กลุ่มตัวอย่าง เป็นผู้ติดเชื้อเอ็ชไอวี และผู้ป่วยเอดส์ภายใต้ระบบการดูแลอย่างครบถ้วนและต่อเนื่องในโรงพยาบาลชุมชนภาคใต้ ที่ได้รับการคัดเลือกตามคุณสมบัติที่กำหนดจำนวน 130 ราย ที่มารับบริการระหว่างเดือนเมษายน- พฤศจิกายน 2548 เครื่องมือที่ใช้ในการวิจัยเป็นแบบสอบถามประกอบด้วย 3 ส่วน ได้แก่ ข้อมูลทั่วไป ข้อมูลด้านคุณภาพชีวิตของผู้ติดเชื้อเอ็ชไอวีพัฒนาขึ้นโดยองค์การอนามัยโลก (WHOQOL-HIV) และข้อมูลการบริการที่ได้รับภายใต้การดูแลอย่างครบถ้วนและต่อเนื่อง ซึ่งผ่านการตรวจสอบความตรงของเนื้อหาโดยผู้ทรงคุณวุฒิ 3 ท่าน ทดสอบความเชื่อมั่นโดยใช้สัมประสิทธิ์อัลฟ่าของครอนบาค ได้ค่าความเที่ยงของแบบวัดคุณภาพชีวิตเท่ากับ 0.81 และบริการที่ได้รับเท่ากับ 0.83 ผลการวิจัยสรุปได้ดังนี้                1. กลุ่มตัวอย่างมีคุณภาพชีวิตโดยรวมอยู่ในระดับปานกลาง (X = 426.51, SD = 40.70) เมื่อพิจารณาตามรายด้านพบว่ากลุ่มตัวอย่าง มีคุณภาพชีวิตทุกด้านอยู่ในระดับปานกลาง ยกเว้นด้านความเป็นอิสระของบุคคลอยู่ในระดับมาก (X=60.94, SD=8.29)                2. กลุ่มตัวอย่างได้รับบริการโดยรวม (X = 39.85, SD = 6.96) และรายด้านอยู่ในระดับมากทุกด้าน ซึ่งได้แก่บริการด้านร่างกาย (X = 22.61, SD =4.04) ด้านจิตใจ (X=10.03, SD = 2.59) ด้านสังคม/ ด้านเศรษฐกิจ/ การคุ้มครองสิทธิ์ (X = 7.22, SD = 2.21)                3. เมื่อวิเคราะห์ความสัมพันธ์ระหว่างบริการที่ได้รับ ระดับความรุนแรงของโรค ระยะเวลาที่เข้าร่วมโครงการกับคุณภาพชีวิตพบว่า บริการที่กลุ่มตัวอย่างได้รับเป็นตัวแปรเดียวที่มีความสัมพันธ์กับคุณภาพชีวิตในทางบวกอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ (r = 0.34, p < 0.01)                ผลการศึกษาครั้งนี้สะท้อนให้เห็นถึงความสำคัญของการให้บริการอย่างครบถ้วนและต่อเนื่อง ซึ่งมีส่วนช่วยส่งเสริมคุณภาพชีวิตของผู้ติดเชื้อเอ็ชไอวี/ เอดส์
ที่มา
วารสารโรคเอดส์ ปี 2551, ปีที่: 20 ฉบับที่ 1 หน้า 46-57
คำสำคัญ
Quality of life, คุณภาพชีวิต, Comprehensive and continuum care program, HIV/AIDS patients, ผู้ติดเชื้อเอ็ชไอวี/เอดส์, ระบบการดูแลอย่างครบครันและต่อเนื่อง