การประเมินทางเศรษฐศาสตร์ในโครงการบริหารจัดการโรค: กรณีศึกษาการผ่าตัดหัวใจชนิดเปิด
จุฬาภรณ์ ลิมวัฒนานนท์, ธนนรรจ์ รัตนโชติพานิช*, ธิติมา สามแก้ว, นุจรี ประทีปปะวนิช จอห์นส, ภัทรนุช รุจิรวรรธน์, สุมนต์ สกลไชย, อารีวรรณ เชี่ยวชาญวัฒนาClinical Pharmacy and Research Group, Faculty of Pharmacy, Mahasarakham University, Mahasarakham 44150 Tel./Fax: 043-754-360, e-mail: [email protected]
บทคัดย่อ
การศึกษานี้มีวัตถุประสงค์ เพื่อวิเคราะห์ค่าใช้จ่ายประสิทธิผลของการผ่าตัดหัวใจชนิดเปิด ของระบบการบริหารจัดการโรค (disease management) เปรียบเทียบกับระบบเดิม (usual care) โดยทำการวิเคราะห์ค่าใช้จ่ายประสิทธิผลของการผ่าตัดหัวใจแยกเป็น 2 ชนิดคือ การผ่าตัดทางเบี่ยงหัวใจ (coronary artery bypass grafting, CABG) ในผู้ป่วยอายุ 60 ปี และการผ่าตัดในผู้ป่วยโรคลิ้นหัวใจ (Valvular heart disease, VHD) อายุ 40 ปี ตัวแบบที่ใช้ในการวิเคราะห์ค่าใช้จ่ายและประสิทธิผล คือ Decision Analysis Model ในการคำนวณอายุคาดของผู้ป่วย (life expectancy) จำนวนปีชีพที่ปรับด้วยคุณภาพชีวิต (quality-adjusted life expectancy, QALY) ค่าใช้จ่ายตลอดชีพ (lifetime cost) และอัตราส่วนค่าใช้จ่ายที่เพิ่มขึ้นต่อหน่วยประสิทธิผล (incremental cost-effectiveness ratio, ICER) การศึกษานี้กำหนดให้ระบบ disease management เพิ่มจำนวนผู้ป่วยที่เข้าถึงการผ่าตัด ร้อยละ 30 และลดจำนวนผู้ป่วยรอคิวผ่าตัดลงร้อยละ 40 จากระบบ usual care ข้อมูลประสิทธิผลของการผ่าตัดหัวใจในปีแรกใช้ข้อมูลจากศูนย์หัวใจสิริกิตติ์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น ข้อมูลประสิทธิผลของการผ่าตัดในปีถัดมาอ้างอิงจากการศึกษาต่างประเทศ ค่าใช้จ่ายของการผ่าตัดและติดตามการรักษาได้จากฐานข้อมูลอิเล็คทรกนิกส์ของโรงพยาบาลมหาราชนครราชสีมา และระบบการจ่ายเงินของ DRG ค่าคะแนนคุณภาพชีวิตอ้างอิงจากข้อมูลโครงการวิจัยที่ศึกษาคุณภาพชีวิตวัดโดย EuroQoL VAS ของผู้ป่วยผ่าตัดหัวใจชนิดเปิดภายใต้โครงการบริหารจัดการโรคหัวใจที่ต้องได้รับการผ่าตัด กำหนดกรอบระยะเวลาของการศึกษา 20 ปี สำหรับการผ่าตัด CABG และ 40 ปี สำหรับการผ่าตัด VHD ผลการศึกษาพบว่าการผ่าตัด CABG ในระบบ disease management มี life expectancy 9.83 ปีหรือ 6.29 QALYs มากกว่าระบบ usual care ที่มี life expectancy 9.36 ปี หรือ 5.82 QALYs โดยระบบ disease management มี ICER เปรียบเทียบกับระบบ usual care เท่ากับ 17,276 บาท/QALY สำหรับการผ่าตัด VHD ในระบบ disease management มี life expectancy 13.17 ปีหรือ 8.50 QALYs มากกว่าระบบ usual care ที่มี life expectancy 11.54 ปีหรือ 7.35 QALYs โดยระบบ disease management มี ICER เปรียบเทียบกับระบบ usual care เท่ากับ 5,904 บาท/QALY ผลของ acceptability curve จาก Monte Carlo simulation การผ่าตัด CABG มีโอกาสคุ้มค่ามากกว่าร้อยละ 50 หากผู้ตัดสินใจนโยบายด้านสุขภาพยินดีที่จะจ่าย (willingness to pay, WTP) มากกว่าหรือเท่ากับ 15,000 บาท/QALY และผ่าตัด VHD จะมีโอกาสคุ้มค่ามากกว่าร้อยละ 50 และคุ้มค่าทางเศรษฐศาสตร์มากกว่าระบบ usual care หาก WTP 10,000 บาท/QALY และเมื่อพิจารณาตามเกณฑ์ของ WHO สรุปได้ว่าการผ่าตัดหัวใจชนิดเปิดในการทำ CABG และการผ่าตัด VHD ในโครงการ disease management มีความคุ้มค่าทางด้านเศรษฐศาสตร์
ที่มา
วารสารเภสัชศาสตร์อีสาน ปี 2551, January-June
ปีที่: 4 ฉบับที่ 1 หน้า 62-76
คำสำคัญ
cost effectiveness, Disease management program, Open heart surgery, การผ่าตัดหัวใจชนิดเปิด, ค่าใช้จ่ายประสิทธิผล, ระบบการบริหารจัดการโรค