การเปรียบเทียบประสิทธิผลของแผ่นยาชาลิโดเคนที่ผลิตเองในประเทศกับแผ่นยาลิโดเคนที่มีจำหน่ายในท้องตลาดในการลดความเจ็บปวดจากการแทงเข็มฉีดยาและการขูดหินน้ำลายและเกลารากฟัน
กาญจน์พิมล ฤทธิเดช, ศานุตม์ สุทธิพิศาล, สุพจน์ ตามสายลม, วิพุธสินี เตือนอารีย์*Department of General Dentistry, Faculty of Dentistry, Chiangmai University, Chiangmai 50200 Thailand
บทคัดย่อ
การศึกษาทางคลินิกนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อทดสอบประสิทธิผลของแผ่นยาชาเฉพาะที่ลิโดเคนที่ผลิตเองเปรียบเทียบกับแผ่นยาชาเฉพาะที่ลิโดเคนที่มีจำหน่ายในท้องตลาดหรือเดนติแพทช์ ในการลดความเจ็บปวดที่เกิดจากการแทลเข็มฉีดยาและการขูดหินน้ำลายและเกลารากฟัน ในอาสาสมัครชายและหญิงอายุ30-50 ปี จำนวน 22 คน ที่มีร่องลึกปริทันต์ 4-7 มิลลิเมตร อย่างน้อย 1 ตำแหน่ง ที่ฟันกรามน้อยทั้งสองในแต่ละจตุภาคของขากรรไกรบน และมีค่าดัชนีหินน้ำลายไม่น้อยกว่า 2 โดยทำการประเมินความเจ็บปวดของกลุ่มตัวอย่างด้วยสเกลเวอร์เบิลเพน (วีพีเอส) และสเกลวิชวลอะนาลอก (วีเอเอส) และวิเคราะห์ข้อมูลด้วยการทดสอบแบบวิลคอกชั่น ชายน์ แรงค์ ผลการวิจัยพบว่า ค่าเฉลี่ยคะแนนความเจ็บปวดวีพีเอสและวีเอเอสที่ได้จากการทดสอบอาสาสมัครด้วยการแทงเข็มฉีดยาและการขูดหินน้ำลายและเกลารากฟันทั้งทางด้านแก้มและเพดานปาก เมื่อได้รับการแปะแผ่นยาชาลิโดเคนที่ผลิตเองเปรียบเทียบกับเมื่อได้รับการแปะเดนติแพทช์ไม่มีความแตกต่างกันอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ เมื่อวิเคราะห์ค่าเฉลี่ยคะแนนความเจ็บปวดวีพีเอสและวีเอเอส ในอาสาสมัครเพศชายเปรียบเทียบกับเพศหญิง พบว่าเพศหญิงมีแนวโน้มที่จะให้คะแนนความเจ็บปวดมากกว่าเพศชาย โดยพบความแตกต่างกันอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติของค่าเฉลี่ยคะแนนความเจ็บปวดวีพีเอสและวีเอเอสระหว่างสองเพศ เนื่องจากการแทงเข็มฉีดยาด้านแก้มภายหลังการแปะแผ่นยาชาลิโดเคนที่ผลิตเองและเดนติแพทช์ และภายหลังการขูดหินน้ำลายและเกลารากฟันทางด้านแก้ม เมื่อทดสอบด้วยแผ่นยาชาลิโดเคนที่ผลิตเอง จากการศึกษานี้จึงสรุปได้ว่าแผ่นยาชาลิโดเคนที่ผลิตเองนี้มีประสิทธิผลในการลดความเจ็บปวดจากการแทงเข็มฉีดยาและการขูดหินน้ำลายและเกลารากฟันได้ไม่แตกต่างกับแผ่นลิโดเคนที่มีจำหน่ายในท้องตลาด
ที่มา
วารสารปริทันตวิทยา ปี 2550,
ปีที่: 1 ฉบับที่ 1 หน้า 7-16
คำสำคัญ
Dental pain, Lidocaine patch, Topical anesthesia