คุณภาพชีวิตในผู้ป่วยโรคสะเก็ดเงิน
กฤษณี โพธิ์ชนะพันธุ์
Institute of Dermatology
บทคัดย่อ
                โรคสะเก็ดเงินเป็นโรคผิวหนังเรื้อรัง สร้างความทุกข์ทรมานต่อสุขภาพและการทำงานของร่างกาย รวมทั้งภาพลักษณ์จิตใจ และอารมณ์ของผู้ป่วย การวิจัยมีวัตถุประสงค์เพื่อประเมินคุณภาพชีวิตในผู้ป่วยโรคสะเก็ดเงิน และหาความสัมพันธ์ระหว่างปัจจัยบางประการ อันได้แก่ ลักษณะส่วนบุคคล ปัจจัยด้านความเจ็บป่วย การดูแลตนเอง และความเชื่อด้านสุขภาพ กับคุณภาพชีวิตของผู้ป่วย กลุ่มตัวอย่างเป็นผู้ป่วยโรคสะเก็ดเงิน ที่มารับการรักษาที่งานผู้ป่วยนอก สถาบันโรคผิวหนังมาแล้วไม่น้อยกว่า 6 เดือน จำนวน 280 คน เลือกโดยวิธีสุ่มตัวอย่างแบบเจาะจง วิเคราะห์ข้อมูลโดยใช้สถิติเชิงพรรณนา สัมประสิทธิ์สหสัมพันธ์ของเพียร์สัน และการวิเคราะห์ถดถอยพหุแบบขั้นตอน ผลการวิจัยพบว่า ผู้ป่วยส่วนใหญ่เป็นเพศชายร้อยละ 58.2 และเพศหญิงร้อยละ 41.8 มีอายุเฉลี่ย 36.9 ปี ได้รับการศึกษาในระดับปริญญาตรี ร้อยละ 26 มีมัธยฐานของรายได้ 13,000 บาท/เดือน โดยร้อยละ 58.2 ของผู้ป่วยเสียค่าใช้จ่ายในการรักษาเอง คุณภาพชีวิตโดยรวมอยู่ในระดับพอใช้ (ร้อยละ 58.2) ความพึงพอใจในชีวิตระดับพอใช้ (ร้อยละ 58.2) อัตมโนทัศน์ระดับพอใช้ (ร้อยละ 49.6) สุขภาพและการทำงานของร่างกายอยู่ในระดับดี (ร้อยละ 46.1) สังคมและเศษฐกิจอยู่ในระดับดี (ร้อยละ 38.9) ปัจจัยที่มีความสัมพันธ์ทางบวกกับคุณภาพชีวิต คือ อายุ (p= .001) และรายได้ครอบครัวเฉลี่ยต่อเดือน (p=0.003) การดูแลตนเองและความเชื่อด้านสุขภาพ (p < 0.000) ความรุนแรงของโรคทั้งด้วยแบบประเมินความรุนแรงของโรคสะเก็ดเงินและตามการรับรู้ของผู้ป่วย มีความสัมพันธ์ทางลบกับคุณภาพชีวิต (p=.000) ตัวแปรที่สามารถอธิบายความผันแปรของคุณภาพชีวิตในผู้ป่วยโรคสะเก็ดเงิน คือ ความรุนแรงของโรคตามการรับรู้ของผู้ป่วย ความเชื่อด้านสุขภาพโดยรวม การดูแลตนเองโดยทั่วไป และการรับรู้ประโยชน์ ได้ถึงร้อยละ 37.3 (p = 0.014) จากผลการวิจัยแสดงให้เห็นว่า การลดความรุนแรงของโรค การดูแลตนเองและความเชื่อด้านสุขภาพที่ถูกต้อง มีส่วนช่วยให้คุณภาพชีวิตของผู้ป่วยดีขึ้น ดังนั้น พยาบาลและบุคลากรในทีมสุขภาพ จึงควรตระหนักถึงความสำคัญในการให้ความรู้ ความเข้าใจที่ถูกต้องแก่ผู้ป่วยเพื่อให้ผู้ป่วยสามารถดูแลตนเอง มีความเชื่อด้านสุขภาพที่ถูกต้อง จะช่วยลดความรุนแรงของโรค และส่งผลถึงคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นของผู้ป่วยโรคสะเก็ดเงิน
ที่มา
วารสารกรมการแพทย์ ปี 2548, June ปีที่: 30 ฉบับที่ 6 หน้า 335-343