ปัจจัยที่มีอิทธิพลต่อคุณภาพชีวิตของผู้ป่วยโรคหลอดเลือดสมอง
อรุณี ศิริกังวาลกุลDepartment of Pharmacy, Prasat Neurological Institute, Bangkok, Thailand
บทคัดย่อ
การศึกษาปัจจัยที่มีอิทธิพลต่อคุณภาพชีวิตของผู้ป่วยโรคหลอดเลือดสมองในผู้ป่วยนอก ของสถาบันประสาทวิทยาระหว่างเดือน เมษายน-สิงหาคม พ.ศ.2545 จำนวน 150 ราย โดยใช้แบบสัมภาษณ์คุณภาพชีวิต SF-36 ซึ่งประกอบด้วย 8 มิติ คือ ความสามารถทางด้านร่างกาย ปัญหาด้านร่างกาย ความเจ็บปวดทางด้านร่างกาย สุขภาพทั่วไป การเข้าสังคม ความกระปรี้กระเปร่า ปัญหาด้านอารมณ์ สุขภาพจิต โดยมีวัตถุประสงค์ เพื่อศึกษาข้อมูลทั่วไป คุณภาพชีวิต ภาวะซึมเศร้าและศึกษาปัจจัยที่มีอิทธิพลต่อคุณภาพชีวิตของผู้ป่วยโรคหลอดเลือดสมองที่มารับบริการ ณ ฝ่ายผู้ป่วยนอกของสถานบันประสาทวิทยา นำมาวิเคราะห์โดยใช้สถิติร้อยละ, Mc Nemar test, Mann Whitney U test พบว่า ผู้ป่วยนอกที่มารับบริการที่สถาบันประสาทวิทยาอายุเฉลี่ย 60 ปี ส่วนใหญ่เป็นเพศชาย (ร้อยละ 56.7), อาศัยอยู่ภาคกลางร้อยละ 78, มีคู่ร้อยละ 80, มีบุตรร้อยละ 93.8, ระดับการศึกษาประถมศึกษาร้อยละ 50, ค่ารักษาเบิกได้ทั้งหมดร้อยละ 63.3 ไม่มีปัญหากับการชำระเงินร้อยละ 74, สาเหตุของโรคหลอดเลือดสมองส่วนใหญ่จากหลอดเลือดตีบ/ อุดตัน ร้อยละ 93.3, มีอาการชาด้านซ้ายร้อยละ 44.7, เดินได้ตามลำพังร้อยละ 68, ระยะเวลาที่ป่วยเฉลี่ย 3 ปี รับประทานยาตามแพทย์สั่งสม่ำเสมอร้อยละ 77.3, จำนวนรายการยาที่รับประทานต่อวัน 4.87, รายการจำนวนเม็ดยาเฉลี่ยต่อวัน 6.92 เม็ด ตัวแปรด้านอาชีพ การสูบบุหรี่ การดื่มเหล้า พบว่า มีความแตกต่างกันระหว่างก่อนป่วยหลังป่วย อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ (p< 0.001) ส่วนปัจจัยที่มีอิทธิพลต่อคุณภาพชีวิต พบว่า ระดับภาวะซึมเศร้า มีผลต่อคุณภาพชีวิตของผู้ป่วยหลอดเลือดสมอง อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ (p<0.001) ในทุกมิติ ส่วนปัจจัยด้านสถานภาพสมรส ประเภทค่ารักษา ปัญหาการชำระเงิน ความเพียงพอของค่าใช้จ่าย อาการป่วย การเคลื่อนไหว ชนิดของยา สาเหตุ อายุ จำนวนบุตร รายได้ รายการยา/วัน จำนวนเม็ดยา/วัน มีอิทธิพลต่อคุณภาพชีวิตบางมิติที่วัดด้วยเครื่องมือวัดคุณภาพชีวิต SF-36 อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ (p< 0.05)
ที่มา
วารสารกรมการแพทย์ ปี 2545, June
ปีที่: 27 ฉบับที่ 6 หน้า 239-247