ผลของการใช้ยาไลโดเคนในขนาดที่แตกต่างกันที่ให้ผ่านทางท่อหายใจต่อการลดการตอบสนองของระบบทางหายใจและระบบไหลเวียนเลือดในระยะฟื้นจากยาสลบและถอดท่อหายใจ
Chanchayanon T, Uakritdathikarn T, ฉัตรทอง สมเจริญวัฒนา*, ชัชชัย ปรีชาไว
Department of Anesthesiology, Faculty of Medicine, Prince of Songkhla University, HatYai, Songkhla 90110, Thailand
บทคัดย่อ
                การไอในระยะฟื้นจากการดมยาสลบสามารถทำให้เกิดผลอันไม่พึงประสงค์หลายประการ ได้แก่ ความดันเลือดสูง หัวใจเต้นเร็ว หัวใจเต้นผิดจังหวะ ความดันภายในกะโหลกศีรษะสูงและความดันภายในลูกตาสูง มีหลายวิธีที่ใช้ในการช่วยลดการตอบสนองของระบบทางเดินหายใจ และระบบไหลเวียนเลือดในระยะฟื้นจากการดมยาสลบได้ การให้ยาไลโดเคนสเปรย์ผ่านทางท่อหายใจเป็นหนึ่งในวิธีการที่ใช้ วัตถุประสงค์: เพื่อศึกษาเปรียบเทียบประสิทธิผลของยา 4% ไลโดเคนที่ให้ผ่านทางท่อช่วยหายใจขนาดของยาที่แตกต่างกันในการลดอุบัติการณ์ของการไอและภาวะความดันเลือดสูงและหัวใจเต้นเร็วในระยะฟื้นจากการดมยาสลบ รูปแบบ: Randomized controlled trial วิธีการ: ผู้ป่วยนัดมาผ่าตัดและได้รับการดมยาสลบโดยใส่ท่อหายใจ จำนวน 84 ราย ที่มี ASA physical status ระดับ 1-2 ถูกสุ่มโดยคอมพิวเตอร์แบ่งเป็น 4 กลุ่ม กลุ่มละ 21 คน โดยกลุ่ม 1 ไม่ได้รับยาใด กลุ่ม 2 ได้รับยา 4% lidocaine 1 มิลลิลิตรผสมกับ normal saline 1 มิลลิลิตร กลุ่ม 3 ได้รับยา 4% lidocaine 1.5 มิลลิลิตรผสมกับ normal saline 0.5 มิลลิลิตร กลุ่ม 4 ได้รับยา 4% lidocaine 2 มิลลิลิตร ผู้ป่วยทั้งหมดได้รับการดมยาสลบตามมาตรฐาน ยาที่ใช้ในการทดลองจะถูกให้ผ่านทางท่อหายใจที่ระยะเวลา 20 นาที ก่อนถอดท่อหายใจจากนั้นผู้ป่วยจะถูกประเมินจำนวนครั้งของการไอที่ระยะเวลา 20 นาที ก่อนและหลังถอดท่อหายใจ ความดันเลือดและชีพจรจะถูกประเมินที่ระยะเวลา 5 นาที หลังได้รับยาแก้ฤทธิ์หย่อนกล้ามเนื้อและที่ระยะเวลา 1 นาทีและ 3 นาที หลังถอดท่อหายใจ ผลการศึกษา: ด้านข้อมูลทั่วไปของผู้ป่วยไม่มีความแตกต่างกันอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ ไม่พบความแตกต่างกันอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติในการลดอุบัติการณ์ของการไอเมื่อเปรียบเทียบกับกลุ่มควบคุม (กลุ่ม 1)  ทั้งก่อนและหลังถอดท่อหายใจ ในเรื่องของการเปลี่ยนแปลงความดันเลือดแดงเฉลี่ยและชีพจรจากก่อนดมยาสลบ พบว่าไม่มีความแตกต่างกันอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติเมื่อเปรียบเทียบกับกลุ่มควบคุม สรุป: ยา 4% lidocaine ที่ให้ผ่านทางท่อหายใจที่ระยะเวลา 20 นาทีก่อนถอดท่อหายใจไม่ได้ช่วยลดการตอบสนองของระบบทางเดินหายใจและระบบไหลเวียนเลือดในระยะฟื้นจากการดมยาสลบ
ที่มา
วิสัญญีสาร ปี 2551, January-March ปีที่: 34 ฉบับที่ 1 หน้า 41-47
คำสำคัญ
Lidocaine, Emergence, Airway-circulatory reflexes, Extubation, การตอบสนองของระบบทางเดินหายใจและระบบไหลเวียนเลือด, การถอดท่อหายใจ, ยาไลโดเคน, ระยะฟื้นจากการดมยาสลบ