การเปรียบเทียบประสิทธิผลในการลดปวดระหว่างพาราเซตามอล 1 กรัม และพาราเซตามอล 500 มิลลิกรัมกับโคเดอีน 30 มิลลิกรัมในผู้ป่วยที่มารับการผ่าตัดก้อนที่เต้านมแบบผู้ป่วยนอก
ขนิษฐา ศรีวรรณยศ, งามจิตร์ ภัทรวิทย์*, ยุวดี นิมิตพันธ์พงศ์, ลักษมี ชาญเวชช์, ศรีลา สำเภา, ศศิกานต์ นิมมานรัชต์, สิริพงศ์ ชีวธนากรณ์กุล, โสภณา จันทรารังษี
Department of Anesthesiology, Prince of Songkhla University, Hat Yai, Songkhla 90110, Thailand
บทคัดย่อ
                บทนำ: ปัจจุบันการผ่าตัดแบบผู้ป่วยนอกได้รับความนิยมมากขึ้น เนื่องจากช่วยประหยัดค่าใช้จ่ายในโรงพยาบาลได้มาก แต่ความปวดเป็นสาเหตุหนึ่งที่ทำให้ผู้ป่วยรู้สึกไม่สบายเมื่อกลับบ้าน จากการสอบถามย้อนหลังในผู้ป่วยที่มารับการผ่าตัดก้อนที่เต้านมแบบผู้ป่วยนอกของโรงพยาบาลสงขลานครินทร์ที่ได้รับพาราเซตามอล 500 มิลลิกรัม รับประทานเวลาปวดทุก 4 ชั่วโมง พบว่าความปวดหลังการผ่าตัดที่ 24 ชั่วโมงเท่ากับ 6/10 คะแนน คณะผู้วิจัยจึงได้ทำการศึกษาซึ่งเป็นการศึกษาแบบ double-blind randomization เพื่อเปรียบเทียบประสิทธิผลและความปลอดภัยของพาราเซตามอลร่วมกับโคเดอีนและพาราเซตามอลอย่างเดียว ในผู้ป่วยที่มารับการผ่าตัดก้อนที่เต้านมแบบผู้ป่วยนอก  วิธีการศึกษา: ผู้ป่วยทั้งหมดจำนวน 126 คน ในการศึกษาจะได้รับยาชาฉีดเฉพาะที่สำหรับการผ่าตัดก้อนที่เต้านม ผู้ป่วยถูกสุ่มแบ่งเป็น 2 กลุ่มโดยใช้ computer generated-block randomization กลุ่มที่ 1 ได้รับพาราเซตามอล 1,000 มิลลิกรัมรับประทานทุก 6 ชั่วโมง กลุ่มที่ 2 ได้รับพาราเซตามอล 500 มิลลิกรัมร่วมกับโคเดอีน 30 มิลลิกรัมรับประทานทุก 6 ชั่วโมง จบครบ 24 ชั่วโมง โดยสามารถรับประทานพาราเซตามอล 1,000 มิลลิกรัมเสริมได้ทุก 6 ชั่วโมงเมื่อมีความปวด ประเมินระดับความปวดโดยใช้ verbal numerical rating score ประเมินผลข้างเคียงของยา (เวียนศีรษะ ง่วงซึม คลื่นไส้ อาเจียนและท้องผูก) ปริมาณยาระงับปวดเสริม และความพึงพอใจของผู้ป่วยโดยการสัมภาษณ์ทางโทรศัพท์ที่เวลา 0, 6, 12, 24, 48, 72 ชั่วโมง หลังการผ่าตัด ผลการศึกษา: ไม่มีความแตกต่างอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติระหว่าง 2 กลุ่มการศึกษาทั้งในด้านผลการระงับความปวดหลังผ่าตัด ผลข้างเคียง ปริมาณยาระงับปวดเสริม และความพึงพอใจของผู้ป่วย  สรุปผลการศึกษา: พาราเซตามอล 1,000 มิลลิกรัมและพาราเซตามอล 500 มิลลิกรัมร่วมกับโคเดอีน 30 มิลลิกรัม ให้ผลระงับปวดหลังการผ่าตัดในผู้ป่วยที่มาผ่าตัดก้อนที่เต้านมแบบผู้ป่วยนอกไม่แตกต่างกัน
ที่มา
วิสัญญีสาร ปี 2551, April-June ปีที่: 34 ฉบับที่ 2 หน้า 92-100
คำสำคัญ
postoperative pain, Ambulatory surgery, Codeine, Paracetamol, การผ่าตัดแบบผู้ป่วยนอก, ความปวดหลังผ่าตัด, พาราเซตามอล, โคเดอีน