คุณภาพชีวิตในมิติสุขภาพช่องปากของผู้สูงอายุหลังใส่ฟันเทียมพระราชทาน
ดวงพร ศิริเทพมนตรี
Health Center 6, Health Department, BMA
บทคัดย่อ
วัตถุประสงค์: เพื่อประเมินและศึกษาปัจจัยที่มีผลต่อคุณภาพชีวิตของผู้สูงอายุอันเนื่องมาจากสุขภาพในช่องปากหลังการใส่ฟันเทียมพระราชทาน และเปรียบเทียบคุณภาพชีวิตของผู้สูงอายุหลังใส่ฟันเทียมพระราชทานที่กลับมาตรวจซ้ำและไม่กลับมาตรวจซ้ำตามที่ได้โทรศัพท์ติดตามรูปแบบการวิจัย: การวิจัยเชิงพรรณนากลุ่มตัวอย่าง: ผู้สูงอายุที่เข้าร่วมโครงการฟันเทียมพระราชทานเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ในวาระมหามงคล 80 พรรษา จากฝ่ายทันตกรรมบริการ 2 กองทันตสาธารณสุข สำนักอนามัย จำนวน 104 คนวิธีดำเนินการวิจัย: โทรศัพท์ติดตามกลุ่มตัวอย่างให้กลับมาตรวจซ้ำ ผู้สูงอายุที่สามารถกลับมาตรวจสุขภาพช่องปากซ้ำในคลินิก 78 คน (ร้อยละ 75) ได้รับการสัมภาษณ์โดยตรง ส่วนรายที่ไม่สามารถกลับมาตรวจซ้ำ 26 คน (ร้อยละ 25) ได้รับการสัมภาษณ์ทางโทรศัพท์ตัววัดที่สำคัญ: ดัชนี OIDP (Oral Impacts on Daily Performance) ประเมินจากค่าความรุนแรงคูณความถี่ของปัญหาในช่องปากที่เกิดขึ้นต่อการดำเนินกิจกรรมในชีวิตประจำวัน จำนวน 8 กิจกรรม ซึ่งได้จากการสัมภาษณ์ ค่าดัชนี OIDP จะมีค่าระหว่าง 0-100ผลการวิจัย: ผู้สูงอายุ มีอายุระหว่าง 60-88 ปี ส่วนใหญ่ (ร้อยละ 79.4) มีคุณภาพชีวิตหลังใส่ฟันเทียมพระราชทานอยู่ในระดับดีถึงดีมาก (OIDP < 0.6) ร้อยละ 69.2 มีคุณภาพชีวิตที่ดีมาก โดยไม่ได้รับผลกระทบเกี่ยวกับปัญหาในช่องปากแม้แต่ประการเดียว (OIDP = 0) และร้อยละ 30.8 ได้รับผลกระทบอย่างน้อยหนึ่งด้าน ซึ่งผลกระทบที่พบมากที่สุดเกี่ยวกับปัญหาด้านการรับประทานอาหาร (ร้อยละ 29.8) รองลงมาเป็นปัญหาด้านการพูด (ร้อยละ 18.3) ปัจจัยที่ส่งผลกระทบต่อสุขภาพช่องปากอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติได้แก่ อายุ (p-value = 0.030) ระดับรายได้ (p-value = 0.029) และการมีฟันแท้เหลืออยู่ในช่องปาก (p-value = 0.003) กล่าวคือในกลุ่มผู้สูงอายุตอนต้น กลุ่มที่มีรายได้ต่ำ และกลุ่มที่มีฟันแท้เหลืออยู่ในช่องปากจะมีคุณภาพชีวิตด้อยกว่า สำหรับการเปรียบเทียบคุณภาพชีวิตของผู้สูงอายุหลังใส่ฟันเทียมพระราชทานที่กลับมาตรวจซ้ำและไม่กลับมาตรวจซ้ำตามที่โทรศัพท์ติดตามพบว่า กลุ่มที่กลับมาตรวจซ้ำมีแนวโน้มที่จะมีคุณภาพชีวิตด้อยกว่าแต่ไม่มีนัยสำคัญทางสถิติ (p-value = 0.067)สรุป: คุณภาพชีวิตของผู้สูงอายุอันเนื่องมาจากสุขภาพในช่องปากหลังการใส่ฟันเทียมพระราชทานส่วนใหญ่อยู่ในระดับที่ดีถึงดีมาก ผลกระทบของปัญหาทางสุขภาพช่องปากต่อการดำเนินชีวิตประจำวันที่พบในกลุ่มผู้สูงอายุหลังใส่ฟันเทียมพระราชทาน เป็นปัญหาที่เกิดขึ้นโดยทั่วๆ ไป ไม่ใช่ปัญหาที่รุนแรง ปัญหาดังกล่าวมีความสัมพันธ์กับอายุ เศรษฐานะและสถานภาพทางทันตสุขภาพ
ที่มา
วชิรเวชสาร ปี 2551, January-April ปีที่: 52 ฉบับที่ 1 หน้า 39-47
คำสำคัญ
Quality of life, elderly, Dental prothesis, OIDP index, Oral health