ผลของการนวดไทยแบบประยุกต์ต่ออาการปวดและการทำงานของข้อเข่าในผู้ป่วยโรคข้อเข่าเสื่อมปฐมภูมิ: การศึกษาเปรียบเทียบแบบสุ่ม
วิชัย อึงพินิจพงศ์*, สุวัฒนา กลิ่นศรีสุข, อุไรวรรณ ชัชวาล, เสริมศักดิ์ สุมานนท์
Division of Physical Therapy, Faculty of Associated Medical Sciences
บทคัดย่อ
                โรคข้อเข่าเสื่อมเป็นโรคทางกระดูกและกล้ามเนื้อที่พบได้บ่อยในปัจจุบัน ทำให้เกิดความทุกข์ทรมานต่อผู้ป่วย ปัจจุบันยังไม่มีการรักษาที่ทำให้หายขาดแต่เป็นการชะลอความเสื่อมของข้อและบรรเทาอาการปวด การศึกษาในอดีตพบว่าการนวดไทยแบบประยุกต์มีผลในการบรรเทาอาการปวดในผู้ป่วยที่มีอาการปวดคอและหลัง นอกจากนี้ยังมีการใช้การนวดไทยดังกล่าวในผู้ป่วยที่มีอาการปวดขาและเข่าที่มารับการรักษาทางกายภาพบำบัดและสังเกตว่าได้ผลดีระดับหนึ่งแต่ยังไม่มีรายงานการวิจัยในประเด็นนี้ การศีกษานี้มีวัตถุประสงค์เพื่อประเมินประสิทธิภาพของการนวดไทยแบบประยุกต์ต่ออาการปวดและการทำงานของข้อเข่าในผู้ป่วยโรคข้อเข่าเสื่อมปฐมภูมิที่อาศัยอยู่ในชุมชนรอบๆ มหาวิทยาลัยขอนแก่น จำนวน 10 คน (หญิง 8 ชาย 2) สุ่มแบ่งออกเป็น 2 กลุ่ม คือ กลุ่มนวดไทยแบบประยุกต์จำนวน 5 คน และกลุ่มนวดหลอกจำนวน 5 คน แต่ละกลุ่มได้รับการนวดเป็นเวลา 15 นาที/ครั้ง 3 ครั้ง/สัปดาห์ เป็นเวลา 3 สัปดาห์ ตัวแปรที่ใช้ในการศึกษา คือ ระดับความรู้สึกปวดและการเคลื่อนไหวของข้อเข่า ผลการศึกษาพบว่า ผู้ป่วยที่ได้รับการนวดไทยแบบประยุกต์มีระดับความรู้สึกปวดลดลงมากกว่ากลุ่มที่ได้รับการนวดหลอกอย่างมีนัยสำคัญ (VAS ก่อนการนวด = 5.6±0.89 และ 5.4±0.54, VAS หลังการนวด = 3.4±1.14 และ 4.8± 0.44 ตามลำดับ p-value < 0.05) โดยความแตกต่างของระดับความรู้สึกปวดระหว่างสองกลุ่มเท่ากับ 1.55 (95% CI = 0.44-2.64: p-value < 0.05) สำหรับตัวแปรอื่นๆ ในกลุ่มผู้ป่วยที่ได้รับการนวดไทยแบบประยุกต์ก็ได้ผลดีกว่าในกลุ่มที่ได้รับการนวดแบบหลอก สรุปได้ว่าการนวดไทยแบบประยุกต์สามารถอาการปวดและเพิ่มการทำงานของข้อเข่าในผู้ป่วยโรคข้อเข่าเสื่อมปฐมภูมิ ข้อมูลจากการศึกษาครั้งนี้สามารถนำไปเป็นความรู้ซึ่งเป็นทางเลือกหนึ่งในการบำบัดผู้ป่วยโรคข้อเข่าเสื่อมปฐมภูมิ
ที่มา
วารสารเทคนิคการแพทย์และกายภาพบำบัด ปี 2550, September-December ปีที่: 19 ฉบับที่ 3 หน้า 248-260
คำสำคัญ
randomized control trial, Thai massage, Knee osteoarthitis, Therapeutic massage, การนวดไทยแบบประยุกต์, การศีกษาเปรียบเทียบแบบสุ่ม, ผู้ป่วยโรคข้อเข่าเสื่อมปฐมภูมิ