คุณภาพชีวิตผู้สูงอายุที่ใส่ฟันเทียมและไม่ใส่ฟันเทียม ในจังหวัดอ่างทอง
ปรารถนา ฮู้ผลเอิบ*, ปุณฑริกา การกสิขวิธี, อาทิตยา เจริญสุขเกษมAng Thong Provincial Health Office, Mueang District, Ang Thong Province
บทคัดย่อ
ประชากรสูงอายุมีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้นในอนาคต ส่งผลกระทบต่อระบบบริการสาธารณสุข การวิจัยเชิงสำรวจภาคตัดขวางครั้งนี้ มีวัตถุประสงค์เพื่อ เปรียบเทียบคุณภาพชีวิตผู้สูงอายุที่ใส่ฟันเทียมและไม่ใส่ฟันเทียมในจังหวัดอ่างทอง รวมถึงศึกษาปัจจัยที่มีอิทธิพลและสามารถทำนายคุณภาพชีวิตของผู้สูงอายุทั้งสองกลุ่ม เก็บรวบรวมข้อมูลในระหว่างเดือนเมษายน 2551 ถึงเดือนมิถุนายน 2551 โดยการสุ่มตัวอย่างแบบง่ายจากกลุ่มตัวอย่างผู้สูงอายุที่ใส่ฟันเทียมในโครงการฟันเทียมพระราชทาน พ.ศ.2548-2550 จังหวัดอ่างทอง และผู้สูงอายุที่ไม่ใส่ฟันเทียมในจังหวัดอ่างทอง จำนวน 400 คน ใช้แบบสัมภาษณ์ที่ผู้วิจัยได้พัฒนาขึ้น ประกอบด้วยคุณลักษณะทั่วไป ความรู้สึกเกี่ยวกับสุขภาพช่องปากตนเอง ทัศนคติในการใส่ฟันเทียม การสนับสนุนทางสังคมและคุณภาพชีวิตผู้สูงอายุ วิเคราะห์ข้อมูลด้วยสถิติร้อยละ, t-test, Pearson’s Product Moment Correlation Coefficient และ Stepwise Multiple Regression ผลการวิจัยพบผู้สูงอายุ 2 ใน 3 ของทั้ง 2 กลุ่มที่ใส่ฟันเทียมและไม่ใส่ฟันเทียมมีคุณภาพชีวิตอยู่ในระดับสูง คิดเป็นร้อยละ 63.0 และ 67.0 ตามลำดับ และผู้สูงอายุที่ใส่ฟันเทียมและไม่ใส่ฟันเทียมในจังหวัดอ่างทองมีคุณภาพชีวิตที่ไม่แตกต่างกัน (p-value > 0.05) ปัจจัยนำและปัจจัยเสริมที่มีอิทธิพลต่อคุณภาพชีวิตของผู้สูงอายุทั้งสองกลุ่ม อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ < 0.05 คือ ทัศนคติต่อการใส่ฟันเทียม, แรงสนับสนุนทางสังคม และความรู้สึกต่อสภาพช่องปากตนเอง โดยปัจจัยเหล่านี้สามารถทำนายได้ ร้อยละ 36.0 จากผลการศึกษานี้เสนอแนะให้ครอบครัว หน่วยงานด้านสาธารณสุขที่เกี่ยวข้อง รณรงค์ส่งเสริมทัศนคติที่ดีต่อการใส่ฟันเทียม รวมถึงสร้างมาตรการให้ผู้สูงอายุเข้าถึงโครงการฟันเทียมพระราชทานมากขึ้นเพื่อนำไปสู่การมีคุณภาพชีวิตที่ดี
ที่มา
วารสารสาธารณสุขศาสตร์ ปี 2551, September-December
ปีที่: 38 ฉบับที่ 3 หน้า 416-426
คำสำคัญ
Social support, Denture, Attitude about denture wearing, The quality of life of the elderly, คุณภาพชีวิตผู้สูงอายุ, ทัศนคติต่อการใส่ฟันเทียม, ฟันเทียม, แรงสนับสนุนทางสังคม