การพัฒนาแบบประเมินคุณภาพชีวิตไทยแบบรูปภาพ
บัญชา พิทยวรนันท์, สุชีรา ภัทรายุตวรรตน์*, เธียรชัย งามทิพย์วัฒนา
Department of Psychiatry, Faculty of Medicine, Siriraj Hospital, Mahidol University, Bangkok 10700, Thailand. Phone: 0-2419-7000 ext 4277, Fax: 0-2411-3430
บทคัดย่อ
 
ภูมิหลัง: คุณภาพชีวิตเป็นตัวแปรที่การแพทย์ให้ความสำคัญอย่างยิ่ง แบบประเมินคุณภาพชีวิตไทยแบบรูปภาพเกิดขึ้นเพื่อตอบสนองความสำคัญดังกล่าว
วัตถุประสงค์: การศึกษาการพัฒนาแบบประเมินคุณภาพชีวิตไทยแบบรูปภาพ เพื่อให้ได้แบบวัดที่มีประสิทธิภาพในด้านความตรงเชิงโครงสร้าง อำนาจการจำแนก และความเที่ยงตรง
วัสดุและวิธีการ: กลุ่มตัวอย่างแบ่งออกเป็น 2 กลุ่ม คือ (1) กลุ่มศึกษานำร่องจำนวน 30 ราย (2) กลุ่มตัวอย่างสำรวจจำนวน 672 ราย โดยกลุ่มตัวอย่างทั้ง 2 กลุ่มประกอบด้วย กลุ่มคนปกติ และกลุ่มผู้ป่วยจิตเวช เครื่องมือประเมินคุณภาพชีวิตที่พัฒนาขึ้นสร้างตามความหมายของคุณภาพชีวิตขององค์ การอนามัยโลก ให้ผู้เชี่ยวชาญทำการตรวจสอบความตรงเชิงเนื้อหาด้วยเทคนิคเดลฟาย ทำการศึกษานำร่องเพื่อตรวจสอบความเข้าใจในการสื่อความหมายด้วยรูปภาพและข้อความ หลังจากนั้นทำการปรับแล้วพิมพ์เป็นแบบประเมินเพื่อนำไปใช้เก็บข้อมูลต่อไป
ผลการศึกษา: พบว่าแบบประเมินคุณภาพชีวิตที่ทำการพัฒนาขึ้นประกอบด้วย 25 ข้อ ซึ่งพบว่าข้อคำถามทั้งหมดนี้สามารถแยกคุณภาพชีวิตระหว่างผู้ที่มีปัญหาทางด้านสุขภาพจิตและคนปกติได้อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ (p < 0.001) ความตรงเชิงโครงสร้างของแบบประเมินมี 6 องค์ประกอบดังนี้ ด้านร่างกาย , ความนึกคิด, อารมณ์, สังคม, เศรษฐกิจ และความภาคภูมิใจในตนเอง แบบประเมินชุดนี้มีความตรงเชิงเกณฑ์สัมพันธ์กับแบบประเมินคุณภาพชีวิตฉบับย่อขององค์การอนามัยโลก โดยมีค่าสัมประสิทธ์ความเที่ยงและ ROC ที่ 0.92 และ 0.97 ตามลำดับ ความเที่ยงตรงแบบแอลฟาของแบบวัดทั้งฉบับเท่ากับ 0.88 โดยมีค่าความเที่ยงของด้านย่อยทั้ง 6 ด้านระหว่าง 0.81 ถึง 0.91
สรุป: แบบประเมินคุณภาพชีวิตไทยแบบรูปภาพที่ทำการพัฒนาขึ้นมีประสิทธิภาพด้านความตรงเชิงโครงสร้างอำนาจจำแนกและค่าความเที่ยง สามารถนำไปประเมินคุณภาพชีวิตของผู้ที่มีปัญหาสุขภาพจิตในคลินิกและคนทั่วไปในชุมชนไทย
 
ที่มา
วารสารจดหมายเหตุทางการแพทย์ ปี 2548, November ปีที่: 88 ฉบับที่ 11 หน้า 1605-1618
คำสำคัญ
Development, Pictorial Thai quality of life