ผลการให้แคลเซียมและแมกนีเซียมในหญิงตั้งครรภ์จนคลอดต่อการการเกิดภาวะความดันโลหิตสูงจากการตั้งครรภ์และต่อทารกแรกคลอด
ธงชัย มีลือการ
Department of Obstetric and Gynecology, Phrae Hospital, Phrae
บทคัดย่อ
วัตถุประสงค์: เพื่อประเมินผลการเกิดภาวะความดันโลหิตสูงจากการตั้งครรภ์ และผลต่อทารกแรกคลอดในหญิงตั้งครรภ์ที่ได้รับแคลเซียมและแมกนีเซียมเสริมตลอดการตั้งครรภ์สถานที่ศึกษา: แผนกสูตินรีเวชกรรม โรงพยาบาลแพร่รูปแบบการวิจัย: การวิจัยเชิงคลินิกแบบ randomization clinical trialกลุ่มตัวอย่าง: หญิงตั้งครรภ์ที่มาฝากครรภ์ที่โรงพยาบาลแพร่ ตั้งแต่อายุครรภ์ไม่เกิน 16 สัปดาห์ และคลอดบุตรที่โรงพยาบาลแพร่ ตั้งแต่เดือนตุลาคม พ.ศ. 2549 ถึงเดือนกันยายน พ.ศ.2551 จำนวน 2,120 คน วิธีการศึกษา : แบ่งกลุ่มตัวอย่างออกเป็น 2 กลุ่ม โดยการสุ่มอย่างเป็นระบบ กลุ่มศึกษาได้รับยาที่มีองค์ประกอบของแคลเซียมและแมกนีเซียมเพิ่มเติม นอกเหนือจากการได้รับยาบำรุงครรภ์ปกติจนกระทั่งคลอดบุตร ส่วนกลุ่มเปรียบเทียบ ได้รับยาบำรุงครรภ์ปกติตามมาตรฐานเดิมเพียงอย่างเดียว รวบรวมข้อมูลจากบันทึกการฝากครรภ์ และบันทึกผลการคลอดบุตร ได้แก่ อายุมารดา ส่วนสูง น้ำหนักมารดาก่อนตั้งครรภ์ จำนวนครั้งของการตั้งครรภ์ การเกิดภาวะความดันโลหิตสูง อายุครรภ์ขณะคลอด น้ำหนักทารกแรกคลอด และคะแนน APGAR ที่ 1 และ 5 นาที เปรียบเทียบความแตกต่างของการเกิดภาวะความดันโลหิตสูง อายุครรภ์ขณะคลอด น้ำหนักทารกคแรกคลอด และภาวะขาดออกซิเจนขณะคลอด (birth asphysix) ด้วยค่า Odd Ratio (OR), 95 % Confidence interval (CI) และทดสอบ Chi-square ที่ระดับความเชื่อมั่นไม่น้อยกว่าร้อยละ 95ผลการศึกษา: หญิงตั้งครรภ์กลุ่มศึกษา และกลุ่มเปรียบเทียบมีอุบัติการณ์การเกิดภาวะความดันโลหิตสูงในระดับไม่รุนแรง (mild pre- eclampsia) ร้อยละ 1.6 และ 4.0 (OR = 0.39; 95% CI 0.22-0.86; P = 0.001) ในระดับรุนแรง (severe pre-eclampsia) ร้อยละ 0.8 และ 2.8 (OR = 0.26; 95% CI 0.12-0.56; P <0.001) กลุ่มเปรียบเทียบมีการคลอดก่อนกำหนด คือ อายุครรภ์น้อยกว่า 37 สัปดาห์ มากกว่ากลุ่มศึกษา (OR = 1.44; 95% CI 1.16-1.79; P = 0.01) ทารกที่คลอดเกิดภาวะ birth asphyxia ไม่แตกต่างกัน แต่ทารกคลอดในกลุ่มศึกษามีน้ำหนักมากกว่า 2,500 กรัม มากกว่ากลุ่มเปรียบเทียบ (OR = 2.23; 95% CI 1.64-3.05; P = 0.001)วิจารณ์และสรุป: การให้แคลเซียมและแมกนีเซียมในหญิงตั้งครรภ์ มีผลต่อการลดอุบัติการณ์การเกิดภาวะความดันโลหิตสูงจากการตั้งครรภ์ ป้องกันภาวะคลอดก่อนกำหนด และทำให้ทารกมีน้ำหนักแรกคลอดดีขึ้น
ที่มา
สวรรค์ประชารักษ์เวชสาร ปี 2552, Januray-April ปีที่: 6 ฉบับที่ 1 หน้า
คำสำคัญ
Birth asphyxia, Calcium, Fetal body weight, Magnesium, PIH, น้ำหนักทารกแรกคลอด, ภาวะขาดออกซิเจนขณะคลอด, ภาวะความดันโลหิตสูงจากการตั้งครรภ์, แคลเซียม, แมกนีเซียม