การวิเคราะห์ต้นทุนประสิทธิผลของยา dexamethasone ในการรักษาหลอดลมฝอยอักเสบเฉียบพลันในผู้ป่วยเด็กอายุน้อยกว่า 2 ปี
Jamaree Teeratakulpisarn, Somrak Teeratakulpisarn, จุฬาภรณ์ ลิมวัฒนานนท์*, สุรีพร ตนุภัทรชัยFaculty of Pharmaceutical Sciences, Khon Kaen University
บทคัดย่อ
การวิเคราะห์ต้นทุน-ประสิทธิผลของการใช้ dexamethasone ขนาด 0.6 มก./กก. ฉีดเข้ากล้ามครั้งเดียวในเด็กอายุน้อยกว่า 2 ปี ที่เข้านอนรักษาในโรงพยาบาลด้วย acute bronchiolitis ใช้เก็บข้อมูลด้านต้นทุนที่เกิดจากการใช้ทรัพยากรสุขภาพของผู้ป่วยทั้งในและนอกโรงพยาบาลพร้อมกับการเก็บข้อมูลด้านประสิทธิผลทางคลินิก โดยใช้การศึกษาในรูปแบบ randomized, double-blind, placebo-controlled trial ใช้การวิเคราะห์ต้นทุนด้วยตัวแบบ generalized linear model ซึ่งคำนึงถึงการแจกแจงข้อมูลด้านค่าใช้จ่ายที่มักไม่เป็นแบบปกติ โดยมีการควบคุมความแตกต่างระหว่างกลุ่มในด้านอายุ ความรุนแรงของโรค การใช้ยาและออกซิเจนของผู้ป่วยรวมทั้งประวัติการสูบบุหรี่ กับประวัติ atopy ของบิดา-มารดา และใช้การวิเคราะห์ประสิทธิผลแบบ intent-to-treat ผลการศึกษาพบว่าในช่วงระยะเวลา 1 เดือนนับจากผู้ป่วยเริ่มเข้าการศึกษาจนถึง เมื่อติดตามผู้ป่วยหลังจำหน่ายออกจากโรงพยาบาล การใช้ dexamethasone มีประสิทธิผลดีกว่ายาหลอกอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ สามารถเพิ่มจำนวนวันที่ผู้ป่วยปลอดอาการได้โดยเฉลี่ย 1.97 วัน (95% CI 0.15-3.80) ในด้านการรักษาร่วมและการใช้ยาอื่นๆ ในระหว่างนอนรักษาในโรงพยาบาล พบว่าจำนวนผู้ป่วยที่ใช้ออกซิเจน ยา epinephrine และ salbutamol ในกลุ่มที่ได้รับ dexamethasone มีสัดส่วนน้อยกว่าในกลุ่มที่ได้รับยาหลอก ทั้งนี้ ระยะเวลาของการใช้ออกซิเจนและจำนวน dose ของยา salbutamol ในกลุ่มที่ใช้ dexamethasone ต่ำกว่ากลุ่มยาหลอกอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ ในด้านต้นทุนภายใต้มุมมองของผู้ให้บริการสุขภาพ พบว่าค่าใช้จ่ายรวมในระหว่างนอนรักษาในโรงพยาบาลและตลอดช่วงระยะเวลารวม 1 เดือนของกลุ่มที่ได้รับยา dexamethasone (ค่ามัธยฐาน 2,216.50 บาท และ 2,331.96 บาท ตามลำดับ) มีมูลค่าต่ำกว่าในกลุ่มที่ได้รับยาหลอก (ค่ามัธยฐาน 2,776.48 บาท และ 3,039.71 ตามลำดับ) เมื่อเปรียบเทียบค่าใช้จ่ายด้านสุขภาพระหว่างกลุ่มทั้งสองโดยใช้ generalized linear model พบว่า dexamethasone สามารถลดค่าใช้จ่ายขณะรักษาในโรงพยาบาลและในช่วงตลอด 1 เดือนได้ 24% และ 31% ตามลำดับ ภายใต้มุมมองของผู้ใช้บริการ เมื่อรวมค่ารักษาผู้ป่วยและค่าเดินทางกับค่าเสียเวลาของผู้ปกครอง พบว่าการใช้ dexamethasone สามารถลดค่าใช้จ่ายในโรงพยาบาลและในช่วงตลอด 1 เดือนได้ ประมาณ 21% และ 26% ตามลำดับ ดังนั้นการใช้ dexamethasone จึงถือว่าให้ความคุ้มค่าทางเศรษฐศาสตร์แบบ economic dominance คือ ทั้งมีประสิทธิผลดีกว่าและทำให้เกิดความประหยัด เนื่องจากมีต้นทุนรวมที่ถูกกว่าการไม่ใช้ยา จากการวิเคราะห์ความไว (Sensitivity analysis) พบว่า ความคุ้มค่าของการใช้ dexamethasone จะเพิ่มขึ้นเมื่ออัตราจ่ายค่ารักษาพยาบาลแบบ diagnostic-related group (DRG) สำหรับ bronchiolitis เพิ่มขึ้น หรือเมื่อค่าห้อง-ค่าอาหารของโรงพยาบาลเพิ่มขึ้น
ที่มา
วารสารสำนักงานคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ ปี 2549, July-December
ปีที่: 38 ฉบับที่ 2 หน้า 181-202
คำสำคัญ
cost-effectiveness, ต้นทุน-ประสิทธิผล, dexamethasone, Acute bronchiolitis