ความพึงพอใจและผลกระทบของสุขภาพช่องปากต่อคุณภาพชีวิตของผู้สูงอายุไร้ฟัน หลังการใส่ฟันเทียมทั้งปากในโครงการฟันเทียมพระราชทาน ที่โรงพยาบาลบางใหญ่ จังหวัดนนทบุรี
ยุพิน ส่งไพศาลFaculty of Dentistry, Thammasat University, Pathumtani
บทคัดย่อ
การศึกษานี้เพื่อประเมินความคาดหวัง ความพึงพอใจ และผลกระทบของสภาวะช่องปากต่อคุณภาพชีวิตหลังใส่ฟันเทียมทั้งปากในผู้สูงอายุไร้ฟันที่ได้รับบริการระหว่างปี พ.ศ.2547-2549 ตามโครงการ “ฟันเทียมพระราชทาน” เพื่อการรณรงค์ส่งเสริมและฟื้นฟูสุขภาพช่องปากผู้สูงอายุเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ในวาระมหามงคล 80 พรรษา ที่โรงพยาบาลบางใหญ่ จังหวัดนนทบุรี ทำการรวบรวมข้อมูลในเดือนธันวาคม พ.ศ.2549 มีผู้สูงอายุที่ได้รับฟันเทียมทั้งปากและเป็นไปตามเกณฑ์คัดเข้า 96 คน มีอายุระหว่าง 44-85 ปี ได้รับ (1) การตรวจช่องปากเพื่อประเมินสภาวะช่องปาก โดยดูลักษณะของรูปร่างสันเหงือก กล้ามเนื้อของขากรรไกรบนและล่างเป็น 3 ระดับ (ไม่ดีที่สุด ถึงดีที่สุด) (2) การตรวจคุณภาพทางคลินิกของฟันเทียมทั้งปาก เป็น 4 ระดับ (ไม่ดีมากที่สุดถึงดีมากที่สุด) (3) การสัมภาษณ์ความคาดหวัง ความพึงพอใจ ของฟันเทียมทั้งปาก เป็น 5 ระดับ (ไม่พึงพอใจมากที่สุดถึงพึงพอใจมากที่สุด) และ (4) การสัมภาษณ์ผลกระทบของสภาวะช่องปากต่อคุณภาพชีวิต ด้วย OHIP-14 เป็น 5 ระดับ (ไม่เคย ถึงบ่อยมาก) โดยมีความน่าเชื่อถือของแบบสอบถาม (Cronbach’s alpha) ฉบับภาษาไทย เท่ากับ 0.84 และ 0.91 สำหรับแบบสอบถามความคาดหวัง/ความพึงพอใจและ OHIP-14T ตามลำดับ และวิเคราะห์ข้อมูลด้วยสถิติเชิงพรรณนา เป็นค่าร้อยละ ค่าเฉลี่ย และค่า Pearson Correlation (r) รวมทั้งเปรียบเทียบความแตกต่างของตัวแปรกับ อายุ เพศ และการใส่ฟันเทียมประจำด้วย t-test พบว่าผู้สูงอายุไร้ฟันมีสภาวะช่องปากอยู่ในระดับปานกลางหรือดี (2.55±0.26) ฟันเทียมทั้งปากที่ได้รับมีคุณภาพทางคลินิกอยู่ในระดับดีหรือดีมาก (3.12±0.51) มีความพึงพอใจต่อฟันเทียมทั้งปากอยู่ในระดับปานกลาง (3.75±0.78) ซึ่งสูงกว่าความคาดหวังก่อนใส่ฟันเทียมทั้งปาก (3.51±0.50) อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ (p < 0.05) ร้อยละ 83.6 ที่ฟันเทียมทั้งปากไม่เคยมีผลกระทบต่อคุณภาพชีวิต โดยมีค่าเฉลี่ย OHIP-14T อยู่ในระดับต่ำ (1.40±0.54) นอกจากนี้ ความพึงพอใจหลังใส่ฟันเทียมทั้งปากยังมีความสัมพันธ์เชิงลบอย่างสูงกับผลกระทบของสุขภาพช่องปากต่อคุณภาพชีวิต (r=-0.73) อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ (p < 0.001) ความสามารถของฟันเทียมทั้งปากในการรับประทาน/เคี้ยวอาหารเป็นผลกระทบต่อคุณภาพชีวิตที่ผู้สูงอายุให้ความสำคัญมากที่สุด (OHIP -14T = 2.18±1.54) โดยสรุป โครงการฟันเทียมพระราชทานฯ มีความสำเร็จที่สามารถฟื้นฟูสภาวะช่องปากของผู้สูงอายุไร้ฟัน ทำให้สุขภาพช่องปากไม่เป็นปัญหาที่มีผลกระทบต่อคุณภาพชีวิต
ที่มา
วารสารการส่งเสริมสุขภาพและอนามัยสิ่งแวดล้อม ปี 2550, July-September
ปีที่: 30 ฉบับที่ 3 หน้า 31-45
คำสำคัญ
SATISFACTION, ความพึงพอใจ, Complete dentures, Oral health impact to quality of life, The Dental Prosthesis Project, ผลกระทบของสุขภาพช่องปากต่อคุณภาพชีวิต, ฟันเทียมทั้งปาก, ฟันเทียมพระราชทาน, โครงการ