ประสิทธิผลของการล้างจมูกด้วยน้ำกลั่นเปรียบเทียบกับสารละลายน้ำเกลือปกติต่ออาการทางจมูกของผู้ป่วยโรคโพรงอากาศข้างจมูกอักเสบเรื้อรัง
จิระพงษ์ อังคะรา*, ธัญญนุช อรรถกฤษณ์
Department of Otolaryngology, BMA Medical College and Vajira Hospital
บทคัดย่อ
วัตถุประสงค์:  เพื่อเปรียบเทียบประสิทธิผลของการล้างจมูกด้วยน้ำกลั่นกับสารละลายน้ำเกลือปกติ ในผู้ป่วยโรคโพรงอากาศข้างจมูกอักเสบเรื้อรังรูปแบบการวิจัย: การวิจัยแบบสุ่มปกปิดโดยมีกลุ่มเปรียบเทียบกลุ่มตัวอย่าง: ผู้ป่วยโรคโพรงอากาศข้างจมูกอักเสบเรื้อรังที่มารับการรักษาที่ ภาควิชาโสต ศอ นาสิกวิทยา วิทยาลัยแพทยศาสตร์ กรุงเทพมหานครและวชิรพยาบาลในเดือนธันวาคม พ.ศ.2547 ที่มีอายุมากกว่า 15 ปี มีอาการโพรงอากาศข้างจมูกอักเสบมานานมากกว่าหรือเท่ากับ 3 เดือน และได้รับการรักษาแบบ conventional therapy มาแล้ว จำนวน 42 ราย วิธีดำเนินการวิจัย: สุ่มแยกผู้ป่วยออกเป็น 2 กลุ่ม เพื่อทำการล้างจมูกด้วยสารละลายน้ำเกลือปกติ 21 ราย หรือน้ำกลั่น 21 ราย โดยผู้วิจัยและผู้ป่วยจะไม่ทราบว่าใครได้ของเหลวใด ให้ผู้ป่วยตอบแบบสอบถามเพื่อประเมินอาการทางจมูก คือ อาการไอและอาการน้ำมูกไหลเป็นค่าคะแนนก่อนทำการล้างจมูก หลังจากนั้นผู้วิจัยได้ทำการสอนวิธีการล้างจมูกที่ถูกต้องแก่ผู้ป่วย และให้ผู้ป่วยกลับไปทำการล้างจมูกด้วยตนเองเป็นระยะเวลา 1 สัปดาห์ และนัดกลับมาตรวจติดตามและให้ผู้ป่วยตอบแบบสอบถาม เพื่อประเมินอาการทางจมูกเปรียบเทียบกับก่อนทำการล้างจมูกตัววัดที่สำคัญ: คะแนนอาการทางจมูก ซึ่งประกอบด้วยอาการไอ และอาการมีหรือไม่มีและลักษณะของน้ำมูก โดยคะแนนสูงสุด = 7ผลการวิจัย: ผลการล้างจมูกด้วยสารละลายน้ำเกลือปกติ และน้ำกลั่นเป็นระยะเวลา 1 สัปดาห์ ทำให้คะแนนอาการทางจมูกดีขึ้นกว่าก่อนการล้างจมูกอย่างมีนัยสำคัญทางคลินิก มัธยฐานคะแนนอาการทางจมูกลดลงจาก 6 เป็น 3 ในกลุ่มที่ได้สารละลายน้ำเกลือปกติและลดลงจาก 5 เป็น 3 ในกลุ่มที่ได้น้ำกลั่น แต่อาการทางจมูกที่ดีขึ้นแตกต่างกันอย่างไม่มีนัยสำคัญทางสถิติเมื่อเปรียบเทียบระหว่างของเหลว 2 ชนิดสรุป: การล้างจมูกด้วยสารละลายน้ำเกลือปกติหรือน้ำกลั่น สามารถทำให้อาการทางจมูกของผู้ป่วยโรคโพรงอากาศข้างจมูกอักเสบเรื้อรังดีขึ้นทั้ง 2 ชนิด แต่เมื่อทำการเปรียบเทียบกันระหว่ากลุ่มของของเหลวทั้ง 2 ชนิด พบว่าไม่แตกต่างกัน
ที่มา
วชิรเวชสาร ปี 2551, September-December ปีที่: 52 ฉบับที่ 3 หน้า 193-199
คำสำคัญ
Chronic sinusitis, Nasal irrigation, Normal saline solution, Sinonasal symtoms, Sterile water