ผลของการใช้แบบแผนการป้องกันการสูญเสียความร้อนต่อการเกิดภาวะอุณหภูมิกายต่ำในทารกแรกเกิดที่ผ่าตัดคลอด
โสภิดา ฝั้นชมภูหน่วยผ่าตัดสูติศาสตร์และนรีเวชวิทยา งานการพยาบาลผู้ป่วยสูติศาสตร์และนรีเวชวิทยา ฝ่ายการพยาบาล โรงพยาบาลมหาราชนครเชียงใหม่
บทคัดย่อ
การวิเคราะห์งานนี้ใช้ระเบียบวิธีวิจัยเชิงทดลองแบบสุ่ม มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาผลการใช้แบบแผนการป้องกันการสูญเสียความร้อนต่อภาวะอุณหภูมิกายต่ำในทารกแรกเกิดที่ผ่าตัดคลอด กลุ่มตัวอย่างเป็นทารกที่ได้รับการผ่าตัดคลอดที่หน่วยผ่าตัดและพักฟื้นสูติศาสตร์และนรีเวชวิทยา โรงพยาบาลมหาราชนครเชียงใหม่ คัดเลือกโดยการสุ่มตัวอย่างที่มีคุณสมบัติตามที่กำหนดไว้ จำนวน 136 ราย เป็นกลุ่มควบคุมจำนวน 63 ราย เป็นกลุ่มทดลองจำนวน 73 รายกลุ่มควบคุมได้รับการดูแลภายใต้เครื่องให้ความอบอุ่นชนิดแผ่รังสี ห่อตัวด้วยผ้าอุ่นที่เย็บ 2 ชั้น จำนวน 2 ผืน เคลื่อนย้ายไปยังห้องทารกแรกเกิด โดยล้อรับเด็กทารกแรกเกิด กลุ่มทดลอง ได้รับการดูแล ภายใต้เครื่องให้ความอบอุ่นชนิดแผ่รังสี ห่อตัวด้วยผ้าอุ่นที่เย็บ 2 ชั้น จำนวน 1 ผืน หุ้มลำตัวทารกด้วยพลาสติกใส อัดเม็ดฟองอากาศ สวมหมวกที่ทำด้วยพลาสติกใสอัดเม็ดฟองอากาศ เคลื่อนย้ายไปยังห้องทารกแรกเกิดโดยล้อรับเด็กทารกแรกเกิดที่บุผนังด้านข้างด้วยโฟม และคลุมด้วยพลาสติกใส เจาะรูขนาด 5 นิ้ว จำนวน 1 รู เครื่องมือที่ใช้ในการรวบรวมข้อมูล ได้แก่ เทอร์โมมิเตอร์สำหรับวัดอุณหภูมิกายทางทวารหนัก เครื่องวัดอุณหภูมิและความชื้นสัมพัทธ์ของสภาพแวดล้อมนาฬิกาจับเวลา และแบบบันทึกข้อมูลในการทดลอง วิเคราะห์ข้อมูลโดยการหาค่าร้อยละ ค่าเฉลี่ย ส่วนเบี่ยงเบนมาตรฐาน การทดสอบค่าทีและไคสแควร์ ผลการวิเคราะห์ข้อมูล พบว่า ค่าเฉลี่ยของอุณหภูมิ กายทารกของกลุ่มทดลองแตกต่างจากกลุ่มควบคุมอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ (p < .05) โดยกลุ่มทดลอง มีอุณหภูมิกายลดลงน้อยกว่ากลุ่มควบคุม ผลการศึกษาครั้งนี้ สามารถนำไปเป็นแนวทาง ในการป้องกันการสูญเสียความร้อนของทารกแรกเกิดที่ผ่าตัดคลอด โดยการห่อลำตัวด้วยผ้าอุ่นที่เย็บ 2 ชั้น จำนวน 1 ผืน และหุ้มลำตัวด้วยพลาสติกใสอัดเม็ดฟองอากาศ สวมหมวกที่ทำด้วยพลาสติกใสอัดเม็ดฟองอากาศเคลื่อนย้ายไปยังห้องทารกแรกเกิดโดยล้อรับเด็กทารกแรกเกิดที่บุผนังด้านข้างด้วยโฟม และคลุมด้วยพลาสติกใสเจาะรู ซึ่งเป็นวิธีที่มีประสิทธิภาพ สะดวก และประหยัด
ที่มา
วารสารพยาบาลสวนดอก โรงพยาบาลมหาราชนครเชียงใหม่ ปี 2549, January-June
ปีที่: 12 ฉบับที่ 1 หน้า 28-31